ECONOMICS

ไทยแจงที่ประชุมอาเซียน ระบุ การเมืองไม่กระทบ AEC
POSTED ON 07/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (SEOM) ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ประเทศพม่า ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเป็นห่วงและสอบถามนอกรอบถึงสถานการณ์การเมืองว่าจะจัดการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เนื่องจากจะมีผลเกี่ยวพันไปถึงการลงนามเอกสารทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งไทยแจ้งต่อสมาชิกอาเซียนว่า ยังสามารถหารือร่วมกับประเทศสมาชิกและคู่เจรจาได้ แต่ในระยะนี้ยังไม่สามารถลงนามเอกสารทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ และเมื่อไทยมีรัฐบาลแล้วจะดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของไทยลงนามต่อไป

 

ทั้งนี้ ไทยมีเอกสารที่มีกำหนดจะลงนามในปีนี้ 2 ฉบับ ได้แก่ (1)พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 9 และข้อผูกพันเปิดตลาดชุดที่ 9 และ (2)ความตกลงการค้าบริการและการลงทุน อาเซียน-อินเดีย ซึ่งบางฉบับได้เคยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่เนื่องจากมีการยุบสภา จึงจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

ไม่ใช่เพียงไทยประเทศเดียวที่ไม่สามารถลงนามความตกลงต่างๆ ได้ เพราะยังมีอินโดนีเซียอีกประเทศที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีในเดือนเมษายนและกรกฎาคม 2557 ดังนั้น การลงนามเอกสารต่างๆ ในระยะนี้ จึงต้องเป็นการลงนามในลักษณะเวียน (ad-referendum) ประเทศใดพร้อมให้ลงนามก่อน แล้วเวียนให้ประเทศที่เหลือลงนามต่อไป

 

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม SEOM ได้วางกรอบการทำงานสำหรับปี 2557 ก่อนที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ในวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จะถึงนี้ต่อไป โดยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ 3 หัวข้อ คือ (1)การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Development) รวมถึงการพัฒนา (2) PPP for Infrastructure Development และ (3) Moving ASEAN Beyond 2015

 

ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างอาเซียนและคู่ภาคี อาทิ การเจรจาความตกลง (RCEP) หรือ ASEAN+6 นั้น ยังสามารถดำเนินการต่อ เพื่อให้เป้าหมายจะบรรลุการเจรจาในปี 2558 และในปีนี้ไทยในฐานะประธานร่วมฝ่ายอาเซียนจะทบทวน ความตกลงอาเซียน-จีน เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งริเริ่มจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง โดยคาดว่าฮ่องกงจะเป็นประตูการค้าสำคัญของอาเซียนสู่จีนได้ การจัดลำดับความสำคัญในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศ +1

 

นายสมเกียรติกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานสู่ประชาคมอาเซียนตามการวัดผลโดย AEC Scorecard ว่า ดำเนินการไปแล้ว 79.43% โดยสิงคโปร์มีความคืบหน้ามากที่สุด รองลงมาคือ ไทย และประเทศสมาชิกอีก 8 ประเทศ ซึ่งมีความคืบหน้าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

 

สำหรับมาตรการที่อาเซียนยังคงดำเนินการได้ล่าช้ากว่ากำหนด และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 มี 2-3 ประเด็น เช่น การอำนวยความสะดวกในการขนส่งภายในอาเซียนยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (AFAFGIT) ได้ จนกว่าจะมีการลงนามและให้สัตยาบันครบทุกประเทศ การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านมาตรฐานร่วมกัน และการเจรจาเพื่อจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 10 ให้แล้วเสร็จในปี 2558

 

นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนเริ่มจะหยิบยกประเด็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่อไปของอาเซียนภายหลังรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 โดยผู้นำอาเซียนได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก 3 เสาหลัก (การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ) ร่วมกันพิจารณาและนำเสนอแนวทาง และมอบให้สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ทำการศึกษาแนวทางหลังรวมเออีซี พร้อมทั้งควรเพิ่มการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเออีซี เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้คนทั่วไปรับทราบมากขึ้นด้วย