ECONOMICS

จีนเร่งลงนาม FTA กับนานาประเทศ เชื่อ ส่งออกไทยกระทบแน่
POSTED ON 06/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า ขณะนี้จีนได้ปรับเร่งความเร็วในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเสรีกับนานาประเทศ ทำให้ ณ ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเปิดเจรจา และลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มากที่สุดในโลก

 

โดยเอฟทีเอที่จีนได้เจรจาและลงนามความตกลงมีผลบังคับใช้แล้วมีจำนวน 12 ฉบับ ทั้งกับประเทศและเขตเศรษฐกิจในเอเชีย ลาตินอเมริกา โอเชียเนีย และยุโรป เช่น เอฟทีเอ จีน -ฮ่องกง, จีน-มาเก๊า, จีน-อาเซียน, จีน-ชิลี, จีน-ปากีสถาน, จีน-นิวซีแลนด์, จีน-สิงคโปร์, จีน-เปรู, จีน-ชิลี(เพิ่มเติมในส่วนการค้าบริการ), จีน-ไต้หวัน, จีน-คอสตาริกา และจีน-ไอซ์แลนด์

 

ขณะที่ปัจจุบันจีนอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเออีก 6 ฉบับ ประกอบด้วย จีน-สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ ,จีน-สภาความร่วมมือรอบอ่าว (จีซีซี), จีน-ออสเตรเลีย, จีน-นอร์เวย์, จีนสวิตเซอร์แลนด์, ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเริ่มศึกษาความเป็นไปได้อีก  3 ฉบับได้แก่ จีน-เกาหลีใต้ (ด้านรัฐบาล อุตสาหกรรม และการศึกษา), จีน-อินเดีย และจีน-โคลัมเบีย

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า กรณีจีนเร่งขยายเขตการค้าเสรีครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลก มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เจรจามานานแล้วยังไม่สามารถบรรลุความตกลงได้ ขณะที่จีนต้องการขยายการค้า การลงทุนไปทั่วโลกจึงต้องหันพึ่งการจัดทำเอฟทีเอเป็นหัวหอก ซึ่งหากในประเทศใดที่จีนบรรลุความตกลงเอฟทีเอแล้ว แต่ในประเทศนั้นไทยไม่มีการจัดทำเอฟทีเอด้วย สินค้าไทยก็จะเสียเปรียบสินค้าจีนทันที จากที่สินค้าจีนไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือเสียในอัตราต่ำ จากปัจจุบันสินค้าจีนก็มีต้นทุน และราคาต่ำกว่าสินค้าไทยอยู่แล้วจะยิ่งได้เปรียบมากขึ้น

 

"เรียกได้ว่าเราเสียเปรียบจีน 2 เด้ง หากจีนมีการจัดทำเอฟทีเอเยอะๆ  ขณะที่การเจรจาเอฟทีเอของไทยกับหลายประเทศต้องสะดุดลงจากปัญหาการเมือง เช่น เอฟทีเอไทย-อียู ดังนั้น จากนี้ไปเราต้องวางตำแหน่งประเทศให้ถูก โดยไม่ควรไปแข่งกับสินค้าจีน แต่หากแข่งต้องแข่งด้วยคุณภาพสินค้า และยกระดับราคาไปอีกขั้น อีกด้านหนึ่งควรวางตำแหน่งประเทศไทยเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบให้กับจีนนำไปผลิตสินค้าส่งออกหรือบริโภคภายในมากกว่า" ดร.อัทธ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ มีสินค้าเกษตรไทยหลายรายการที่สามารถผลิตป้อนจีนได้ และยังเป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้ต่างๆ ที่เราได้เปรียบจีนได้แก่ เงาะ มังคุด ลำไย มะม่วง ทุเรียน กล้วย รวมถึงผักต่างๆ ซึ่งจากในอีกไม่เกิน 10 ปีจากนี้ไปคาดเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกา หากไทยวางตำแหน่งในการทำการค้ากับจีนให้ดีก็จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย

 

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การเจรจาเอฟทีเอของจีนกับหลายประเทศจะทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบสินค้าจีนมากขึ้น แม้ขณะนี้จีนจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย แต่อีกด้านก็เป็นคู่แข่งขันส่งออกกันโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่งจีนพยายามทำเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา เช่น บราซิลซึ่งเป็นตลาดใหญ่กำลังซื้อสูงซึ่งผู้ส่งออกไทยพยายามเข้าไปเจาะตลาด รวมถึง อาร์เจนตินา ชิลี เม็กซิโก และกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา (53 ประเทศ) ที่เป็นลูกค้าข้าว และอาหารทะเลกระป๋องที่สำคัญของไทย หากจีนมีการจัดทำความตกลงเอฟทีเอด้วยจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดเหล่านี้ในระยะยาวได้ เพราะอีกด้านหนึ่งจีนได้รุกเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในประเทศเหล่านี้โดยตรงด้วย"การเจรจาเอฟทีเอถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการรักษาฐานลูกค้า แต่น่าเสียดายเวลานี้หลายเอฟทีเอของไทย การเจรจาได้สะดุดลงจากปัญหาการเมือง"