ECONOMICS

อุตฯ เครื่องนุ่งห่ม เผย ธุรกิจยังพอไปได้ ชี้ จำนวนผู้ซื้อไม่ลด แต่ไม่สั่งเพิ่ม
POSTED ON 06/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มฮงเส็งการทอ เปิดเผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (Garment) ภายใต้วิกฤติทางการเมืองในขณะนี้ว่า จากที่ยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นมีการปิดสนามบินหรือท่าเรือ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของการส่งออก ดังนั้น จึงยังไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก ประกอบกับการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายล่วงหน้า 4-6 เดือน ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็มีลูกค้าสอบถามเข้ามา ทางสมาคมก็ได้ชี้แจงไปว่า ไทยเคยประสบปัญหาทางการเมืองในลักษณะนี้มาหลายรอบ เมื่อสถานการณ์ถึงจุดอิ่มตัวก็จะคลี่คลายในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในขณะนี้ จะส่งผลในแง่ของความล่าช้ามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ เพราะมีหลายเส้นทางที่มีการปิดถนน รวมถึงการยื่นขอเอกสารส่งออกจากหน่วยงานราชการก็ทำได้ช้าลงเพราะสถานที่ราชการหลายแห่งหยุดทำการ

 

"5-6 เดือนจากนี้มองว่า เรายังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่หากครึ่งปีหลังเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลายหรือมีทางออก ก็ห่วงว่าผู้ซื้ออาจจะชะลอการสั่งซื้อออกไป แต่ทั้งนี้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองก็ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ไทยประเทศเดียว อย่างกัมพูชาเองก็เจอปัญหาเดียวกับเรา แต่เขารุนแรงกว่า เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมคือผู้ใช้แรงงาน และการชุมนุมก็ส่อเค้าว่าจะรุนแรงมีการขู่จะเผาโรงงาน" นายสุกิจ กล่าว

 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มในปี 2557 หากไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรงไปมากกว่านี้ คาดมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้อย่างน้อย 5% หรือมีมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2556 (11 เดือน) การส่งออกติดลบ -4.2% หรือมีมูลค่าประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยบวกคือทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ยุโรปก็กำลังฟื้นตัว รวมไปถึงญี่ปุ่นที่เริ่มหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น จากเดิมที่จะสั่งซื้อจากจีนเป็นหลัก แต่เมื่อญี่ปุ่นกับจีนมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะ ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับไทยหันมาสั่งซื้อสินค้าไทยมากขึ้น

 

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจากปัญหาการเมืองไทย มีผลให้ลูกค้าเริ่มหันไปซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมากขึ้นนั้น ในแง่ของผู้ซื้อไม่ได้ลดลง แต่การสั่งซื้อเพิ่มขึ้นคงไม่เพิ่ม เนื่องจากส่วนหนึ่งลูกค้าได้เริ่มไปวางแผนสั่งซื้อสินค้าจากเวียดนามเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้า โดยในอนาคตสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนามจะได้รับสิทธิภาษีนำเข้าเป็น 0% หลังการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ และมีเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกจะมีผลบังคับใช้ในอนาคต   

 

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการนั้นหากต้องการอยู่รอดต้องกล้าที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เพราะไทยเดินทางมาถึงจุดที่ค่าแรงไม่สามารถคำนวณล่วงหน้าได้ ประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ดังนั้นหากต้องการลดต้นทุนการผลิตก็ควรจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทยเพราะมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงยังถูกกว่า ประกอบกับยังได้สิทธิพิเศษทางด้านการค้าอีกด้วย

 

นายสุกิจ กล่าวว่า "สิ่งที่จะแนะนำผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งแรก ถ้าเป็นโรงงานเราต้องรู้ว่าลูกค้าเราเป็นประเภทไหน 2.ประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในอนาคตจะได้สิทธิทางการค้าอย่างไรบ้าง ถือเป็นปัจจัยแรกๆ ในการตัดสินใจเลือกที่จะไปลงทุน"

 

"ทั้งนี้ เพราะจุดเด่นของประเทศไทยคือสินค้าเป็นที่ยอมรับของลูกค้า แม้ว่าจะยี่ห้อเดียวกัน แบบเดียวกันแต่หากติดแบรนด์ไทย แน่นอนว่าลูกค้าย่อมเลือกสินค้าที่มาจากไทยแทนที่จะเลือกสินค้าที่มาจากจีน สำหรับธุรกิจของกลุ่มฮงเส็งฯ ขณะนี้มีโรงงานผลิตอยู่ที่กรุงเทพฯ อุบลราชธานี  จีน เวียดนาม และที่เมียนมาร์ที่มีเป้าหมายจะเปิดโรงงานให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพราะหากล่าช้าออกไปจะทำให้เสียโอกาสทางการค้า ทั้งนี้ทางกลุ่มจะใช้ฐานผลิตในไทยส่งออกไปในเอเชีย ฐานผลิตในเวียดนามส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และฐานในเมียนมาร์ส่งออกไปยุโรป" นายสุกิจ กล่าว