ECONOMICS

กสอ.เร่งเครื่องอัพจีพีดี SMEs เป็น 40% ภายใน 10 ปี
POSTED ON 05/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในปี 2557 กสอ.ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนจีดีพีของเอสเอ็มอี ที่ปัจจุบันมีรวม 2.724 ล้านราย จากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 40 ใน 10 ปีข้างหน้า พร้อมกันนี้ กสอ.ยังเดินหน้าเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ผ่าน 5 แผนงานสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวสู่การเป็นซัพพลายเชนของอาเซียน ตั้งเป้าพัฒนารวม 600 กิจการ ผู้ประกอบการ 12,000 คน และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณ 157 ล้านบาท ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้าและเครื่องหนัง และก่อสร้าง เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของเอสเอ็มอี โดยมีเป้าหมายดำเนินการใน 12,025 กิจการ พัฒนาศักยภาพบุคลากร 3,800 คน และพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม 470 กิจการ ด้วยงบประมาณ 307.35 ล้านบาท ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแฟชั่นอาเซียน เพราะแฟชั่นเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมย่อยหลายอุตสาหกรรม โดยแนวทางดำเนินการได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพในการผลิต การพัฒนาธุรกิจในการสร้าง Brand การสร้าง Designer เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้าง Fashion Trend ในอนาคต การสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ให้กับสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร การสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ พร้อมผลักดัน 4 ย่านการค้าแฟชั่น ได้แก่ สยาม ประตูน้ำ โบ๊เบ๊ และสวนจตุจักร ให้กลายเป็นแหล่งสินค้าแฟชั่นไทยที่มีกลุ่มลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ จะมุ่งพัฒนากิจการแฟชั่นรวม 225 กิจการ พัฒนาบุคลากร 2,200 คน พัฒนาย่านการค้าแฟชั่น 4 ย่านการค้า รวมทั้งการร่วมงาน Bangkok Fashion Week ภายใต้งบประมาณ 160 ล้านบาท

 

การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (Thai Food Valley) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปตลอดห่วงโซ่อุปทานในเชิงนวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยมีเป้าหมายพัฒนาวิสาหกิจ 170 กิจการ คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดจากผลงานการวิจัยไม่ต่ำกว่า 230 ชิ้น ภายใต้งบประมาณ 48.6 ล้านบาท

 

การเพิ่มมูลค่าสินค้าโอท็อปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาโอท็อปในการนำภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่ม 400 กิจการ พัฒนาราษฎรตามโครงการพระราชดำริ 1,450 คน และพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 350 กลุ่ม ด้วยงบประมาณ 105.75 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ นางอรรชกายังได้กล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ว่า ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง ทำให้กำลังซื้อหายไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ เพื่อหาแนวทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้รับผลกระทบ

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ทั้งประเทศยังคงดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ดังนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต้องปรับตัว ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง รวมทั้งลดการสตอกสินค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยง ใช้แรงงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปรับปรุงเครื่องจักร พัฒนาบุคลากร และควรเพิ่มช่องทางการขายสินค้า เช่น ขายทางโทรศัพท์และขายสินค้าแบบออนไลน์มากขึ้น และควรพิจารณาขยายตลาดออกไปสู่ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

 

นางอรรชกา กล่าวถึงผลกระทบจากช่วงสุญญากาศทางการเมืองว่า หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่ง กสอ.อยู่ระหว่างจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี