ECONOMICS

นักลงทุนญี่ปุ่น เตรียมขยายการลงทุนในอาเซียน
POSTED ON 04/02/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายเซตซึโอะ อิอุจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร และหัวหน้าคณะสำรวจเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยจำนวน 412 แห่ง ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2556 เกี่ยวกับประเด็น AEC พบว่า บริษัทส่วนใหญ่หวังจะเห็นการปรับปรุงและยกเลิกกำแพงภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีของทุกประเทศ

 

ผลสำรวจระบุว่า

 

51% อยากให้มีการปรับปรุงระบบการประเมินสินค้า รวมถึงราคาจากกรมศุลกากร

48% การมีค่าใช้จ่ายพิเศษหรือภาษีภายในประเทศที่นอกเหนือจากศุลกากร

30% การเรียกร้องให้ปรับปรุงการร้องขอเงินมัดจำ การวางเงินล่วงหน้าจากกรมศุลกากร และอื่นๆ

21% เงื่อนไขต่างๆ อาทิ การขอรับใบอนุญาตในสินค้าพิเศษและอื่นๆ

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในไทยต่างมีความต้องการที่จะใช้กรอบ AEC ในการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกสินค้าข้ามพรมแดนมากขึ้น

 

ขณะที่ผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่า ธุรกิจที่ต้องการลงทุนอย่างเสรีในอาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการด้านวิศวกรรมถึง 26% รองลงมาคือ การค้าส่ง 20% การธนาคารและการบริการด้านการเงิน 19% เช่นเดียวกันกับการบริการด้านขนส่งสินค้า

 

ส่วนการลงทุนในประเทศต่างๆ ในอาเซียนนั้น รายงานระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นที่สนใจเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย 59%, เวียดนาม 42% และพม่าอีก 34% ซึ่งบริษัทที่ดำเนินการแล้วมี 28% ส่วนบริษัทที่กำลังพิจารณาอยู่มี 19% และบริษัทที่ยังไม่มีแผนดำเนินการมีถึง 54%

 

อย่างในพม่าที่ญี่ปุ่นต้องการเข้าไปมีบทบาทสำคัญในโครงการนิคมอุตสาหกรรม อาทิ นิคมอุตสาหกรรมทิลาวา และท่าเรือน้ำลึกทวาย ญี่ปุ่นจึงเป็นผู้สนับสนุนหลักในการสร้างถนนจากทวายมายังชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และสร้างถนนมอเตอร์เวย์ต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรอินเดียไปมหาสมุทรแปซิฟิก

 

ส่วนในประเทศลาว มีแผนที่จะพัฒนา 41 เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเสร็จไปแล้ว 3 แห่ง อาทิ ที่สะหวันนะเขต เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน แห่งที่สอง คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ติดชายแดนจีน

 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้พยายามให้ความช่วยเหลือหลายประเทศในอาเซียนผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และยังเป็นหนึ่งในผู้สมทบทุนรายใหญ่ให้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยญี่ปุ่นใช้กลไกการช่วยเหลือผ่าน ADB ในการสร้างการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ที่ประกอบด้วย ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) แนวระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนใต้ (Southern Economic Corridor)

 

โดยในรายงานของหอการค้าญี่ปุ่นได้ระบุว่า การขยายธุรกิจไปยังเพื่อนบ้านภายใต้นโยบายไทยแลนด์บวกหนึ่ง จุดมุ่งหมายที่บริษัทส่วนใหญ่ตอบตรงกันคือ "เมืองย่างกุ้ง" รวมถึงท่าเรือทิลาวา ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันตก-ตะวันออก ส่วนอันดับรองลงมาตอบว่าต้องการลงทุนพื้นที่ในพม่า ซึ่งรวมถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย และพนมเปญ ซึ่งอยู่ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนใต้

 

หลังจาก นายชินโสะ อาเบะ ก้าวมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ผนวกกับการให้ความสำคัญกับอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่มีการผลัดกันเยือนระหว่างตัวของนายอาเบะเอง กับรัฐมนตรีระดับสูง ประกอบกับจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่รอไม่ได้ และหลายประเทศรอบไทย ทั้งมาเลเซียที่มีการปรับแผนนโยบายรถยนต์แห่งชาติให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นเองก็ไม่น่าจะพลาดโอกาสนี้ อีกทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามก็มีกำลังแรงงานที่ถูกและจำนวนมากไว้รองรับ นั่นจึงทำให้มีแนวโน้มสูงว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้ของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน