ECONOMICS

ผลสำรวจขีดแข่งขันไทยในอาเซียน ส่อแววร่วงจากอันดับ 2 เหตุปัญหาการเมือง
POSTED ON 29/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะต้องเเข่งขันกับประเทศในอาเซียนถึง 30% ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าลดคำสั่งซื้อเพื่อไปซื้อสินค้าในประเทศคู่แข่ง เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น

 

แม้ปัญหาการเมืองจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก แต่หากการเมืองยืดเยื้อถึงไตรมาส 2 ก็มีโอกาสที่การส่งออกไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3.8% แม้ว่าศักยภาพของไทยจะสามารถขายตัวได้ถึง 5% หากไม่มีปัญหาการเมือง สถานการณ์การเมืองจะต้องจบภายในไตรมาส1 ปีนี้ แต่หากยืดเยื้อถึงไตรมาสที่ 2 อาจจะต่ำกว่า 3% และการส่งออกจะต่ำกว่าที่คาดการณ์

 

นายอัทธ์ กล่าวว่า จากผลสำรวจ"ความพร้อมและความเข้าใจของภาคการผลิตและภาคบริการไทยต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2556" จากการสำรวจผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จำนวน 2,000 รายทั่วประเทศว่า เมื่อถามถึงผลกระทบจากปัญหาการเมืองต่อการทำธุรกิจกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 70.09% ตอบว่าได้รับผลกระทบ โดย 94.83% ตอบว่าเป็นผลกระทบจากที่ลูกค้าลดคำสั่งซื้อ และหันไปซื้อกับประเทศคู่แข่งแทน เนื่องจากเกรงว่าจะส่งสินค้าให้ไม่ได้ หรือทันกำหนด ขณะที่ 5.17% ตอบว่ามีปัญหาในขั้นตอนการดำเนินการเอกสารกับหน่วยราชการ แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะยังยืนยันว่าเชื่อมั่นในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยก็ตาม

 

เมื่อถามถึงระดับความเข้าใจต่อเออีซี ภาคเกษตรกรรม โดย 89.29% ตอบว่าเข้าใจ อุตสาหกรรม 66.39% และบริการ 61.25% ส่วนสาเหตุที่ไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่การประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน ไม่ทั่วถึง และไม่สนใจติดตามข้อมูล โดยแนวทางความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ตอบว่าให้จัดอบรมในธุรกิจแต่ละประเภท เพิ่มการประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นผู้ประกอบการให้เห็นความสำคัญด้านข้อมูลที่ไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่กรอบการลดภาษีศุลกากร

 

ขณะที่ด้านความพร้อมของธุรกิจไทยในการแข่งขัน พบว่า เกษตรกรรม 60.61% ตอบว่าไม่พร้อม อุตสาหกรรม และ 63.60% ตอบว่า พร้อม และ บริการ 67.17%ตอบว่า พร้อม

 

"แนวโน้มการค้าของไทยในอาเซียน หลังปี2558 พบ60% จะทำให้การค้าเพิ่มขึ้น10.20% หรือประมาณ 51.082 ล้านบาท ส่วนประเทศในอาเซียนที่สนใจเข้าไปค้าขาย โดย 35.29% ตอบว่าพม่า รอง 28.24% ลาว 17.65% มาเลเซีย "นายอัทธ์ กล่าว

 

การสำรวจได้ทำในช่วงเดือน ธ.ค.2556 ถึง ม.ค.2557 ประเมินปัญหาทางการเมืองเข้าไปด้วย พบว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นเช่นนี้ จะทำให้ความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยลดลง จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่มีแนวโน้มที่จะตกไปอยู่อันดับที่ 5 คือต่ำกว่าเวียดนาม และอินโดนีเซีย

 

ส่วนแนวโน้มการขยายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนใหญ่ 86.92% ตอบว่า ไปลงทุน โดยประเทศที่น่าสนใจไปขยายการลงทุนมากที่สุด 41.25% พม่า รองลงมา 17.50% เวียดนาม 15% อินโดนีเซีย และ 10% กัมพูชา

 

ในส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่สนใจไปลงทุนผลิตและบริการในอาเซียน 44.10% ตอบว่า ไม่เข้าใจถึงโอกาสและอุปสรรค รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ในการลงทุน 16.41% ตอบว่า ไม่ขยายฐานการผลิตเพราะการผลิตในประเทศมีความพร้อมมากกว่า และ15.38% ตอบว่า ขาดความพร้อมด้านเงินทุน

 

ทั้งนี้ ธุรกิจ เอสเอ็มอีที่ปัจจุบันไม่มีการค้าในอาเซียน เมื่อหลังเกิดเออีซีในปี 2558 พบว่า มีเพียง 39.85% เห็นว่าจะมีการออกไปทำการค้าในอาเซียน ขณะที่ 60.15% จะยังไม่มีการค้าต่อไป