ECONOMICS

EEC ตั้งเป้า 64 ยอด โต 50% ยอดลงทุน 3 แสนล้านบาท
POSTED ON 01/02/2564


 

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 64 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงินรวม 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปี 63 ที่มียอดผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท จำนวน 453 โครงการ คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ โดยลดลงจากปี 62 เนื่องจากผลกระทบการระบาดโควิด-19

สำหรับการลงทุนในปี 63 เป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดใน EEC โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนใน EEC สูงสุด มูลค่าการลงทุน 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44% และอันดับสองเป็นนักลงทุนจากจีน มูลค่าการลงทุน 21,831 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้า โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในปี 63 จาก 453 โครงการ ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว

"ได้เร่งการลงทุนใน EEC และในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะต้องใช้ทุกหน่วยงาน จาก EEC , BOI มาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด มีการพบปะนักลงทุนที่สนใจ รวมถึงการคัดเลือกกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การดำเนินงานเป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัด ฯ และมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือน มี.ค.64 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืนอยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท.ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือน ก.ย.64

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบอ. รับทราบ การลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท) กับ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ สปป. ลาว ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงขนส่งสินค้า จากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนโดยเฉพาะด้านระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับนานาชาติ โดยความร่วมมือศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.64 นี้

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC โดยได้ลงนาม MOU การจัดทำระบบห้องเย็น เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สกพอ. วางกลไกบริหาร ประสานเอกชน ผู้นำท้องถิ่น สหกรณ์ พร้อมพัฒนาการแปรรูป ประมูลสินค้า และการส่งออก สร้างรายได้สูงสุดตรงสู่เกษตรกร ปตท. ลงทุนระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน ด้วยเทคโนโลยีคงคุณภาพผลไม้ให้เหมือนเก็บจากสวน ยืดอายุ ไม่ต้องรีบส่งขาย และ กนอ. จัดหาพื้นที่บริเวณสมาร์ทปาร์ค มาบตาพุด โดยระบบห้องเย็น จะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ต่อยอดไปยังอาหารทะเล ที่จะช่วยรักษาความสดใหม่ ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคง สม่ำเสมอ ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

ที่ประชุม กบอ. ยังรับทราบ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และในพื้นที่ EEC มาตรการเยียวยาภาครัฐที่ดำเนินการไปแล้ว ครอบคลุมกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 55% ของวัยทำงานใน EEC อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาภาครัฐเพิ่มเติมในระยะต่อไป มีความสำคัญและจำเป็น เช่น โครงการเราชนะ และการปรับเงื่อนไขใน พ.ร.ก.soft loan จะเพิ่มความครอบคลุมการช่วยเหลือ ส่งผลดีต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ EEC EEC ในระยะต่อไป นอกจากจะเร่งการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศแล้ว ยังต้องทำนโยบายที่เน้นมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงจากโควิดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐในการฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพของประชากรในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand driven (EEC model) เป็นหนึ่งในกลไกเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐจากผลกระทบโควิด เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ ช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยังคงการจ้างงาน ดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ อีกกว่า 12,220 คน ทำให้ภายในปี 65 EEC จัดการพัฒนาทักษะบุคคลากร รวมทั้งสิ้นได้กว่า 91,846 คน