ECONOMICS

รัฐบาลเดินหน้าผลักดันความร่วมมืออาเซียนกับเอเชียแปซิฟิกและประเทศภาคี 10 ประเทศ
POSTED ON 08/09/2563


 

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9 - 12 กันยายน 2563 จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการลงนามร่วมกันในเอกสารรวมทั้งสิ้น 17 ฉบับ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่ภาคีที่จะร่วมกันเดินหน้าพัฒนาความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิทธิมนุษยชน ความมั่นคง และโลจิสติกส์ เป็นต้น

โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1)ความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-รัสเซีย อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-นิวซีแลนด์ อาเซียน-แคนนาดา อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-สหรัฐอเมริกา 2)การลงนามระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ครอบคลุมในมิติต่างๆ ทั้งสังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม 3)การลงนามเกี่ยวข้องกับด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติต่อเด็กที่ถูกเกณฑ์และเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้ายและกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง การต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การรักษาความมั่นคงในเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อป้องกันและตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

4)การลงนามอาเซียนกับประเทศพันธมิตรในสนธิสัญญาและมิตรภาพความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการขยายความร่วมมือกับกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคอาเซียน กับประเทศคิวบา แอฟริกาใต้ และฉบับสุดท้ายจะเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาในภูมิภาคระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเลขาธิการอาเซียน และสหรัฐอเมริกา โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอด)

นอกจากนี้ ในวันที่ 11 กันยายน 2563 เป็นการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 โดยกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วยไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งจะมีการลงนามในเอกสารรวม 2 ฉบับ คือ 1)ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ เป็นความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขยายสาขาความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ส่งเสริมพลังงานและตลาดพลังงานไฟฟ้าให้มีความยั่งยืน แบ่งปันข้อมูลน้ำที่โปร่งใส่ และเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน และสหรัฐฯ จะประกาศเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาและผลักดันในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ การบรรเทาสาธารณภัย และการบริหารจัดการข้อมูลน้ำ

2)ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น - สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership: JUMPP) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการทำให้ตลาดพลังงานในอนุภูมิภาคมีความเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น โดยตกลงที่จะยกร่างแผนปฏิบัติการภายใต้ JUMPP ภายใน 1 ปี เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่มีกรอบเวลาและตัวชี้วัดทบทวนความคืบหน้า และหารือประเด็นอุปสรรคต่อการบูรณาการและการประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิก