ECONOMICS

ลงทุนภาคเหนือฮ็อต หญ้าเนเปียร์และฟาร์มไก่ฮาลาลกระแสดี
POSTED ON 26/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายศักดิ์ชัย เหลืองสถิตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เชียงใหม่ (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา โครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมในภาคเหนือ 17 จังหวัดเพิ่มขึ้น 9% จำนวน 148 โครงการ มูลค่าการลงทุนราว 24,755 ล้านบาท จากปี 2555 ที่มีจำนวน 136 โครงการ ซึ่งมีนักลงทุนไทยในกลุ่มเอสเอ็มอีมากกว่า 50% ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดีของเศรษฐกิจภาคเหนือที่การลงทุนยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

แม้สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยท้าทาย แต่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการลงทุนในหลายๆ จังหวัดของภาคเหนือโดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทน มีกลุ่มทุนไทยที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนด้านธุรกิจพลังงานทดแทน คือ โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) จากหญ้าเนเปียร์จำนวน 10 โครงการ โครงการละประมาณ 100 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 1,000 ล้านบาท มีฐานการผลิตกระจายอยู่ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหญ้าเนเปียร์ให้ผลผลิตที่ดีราว 10,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และเป็นผลผลิตที่สามารถผลิตไบโอก๊าซที่มีประสิทธิภาพสูง รองรับตลาดที่มีความต้องการพลังงานทดแทนมากขึ้นในอนาคต

 

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ที่จังหวัดลำปางมีโครงการฟาร์มเลี้ยงไก่ยื่นขอรับการส่งเสริม 2 ราย มูลค่าการลงทุนโครงการละประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของภาคเหนือที่กำลังเติบโตอย่างมาก

 

สำหรับการลงทุนในปี 2556 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือลดลง 34% จาก 115 โครงการ ในปี 2555 เหลือ 76 โครงการ ในปี 2556 มูลค่าการลงทุนลดลง 63% จาก 32,344.4 ล้านบาท ในปี 2555 เป็น 11,931.9 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอันดับหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร 31 โครงการ อาทิ กิจการผลิตน้ำมันรำข้าว ยางแท่ง การคัดคุณภาพข้าว อบพืชและไซโล อันดับสองคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 18 โครงการ อาทิ กิจการอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ และอันดับสามคือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค 9 โครงการ อาทิ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแมสและพลังงานแสงอาทิตย์

 

ทั้งนี้ การลงทุนภาคเหนือยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเป็นนักลงทุนไทยในพื้นที่ 50% และต่างประเทศ 50% โดยสัดส่วน 50% ของนักลงทุนต่างชาติ ครึ่งหนึ่งคือทุนญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่

 

นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า บีโอไออยากให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เน้นการใช้ฐานความรู้ในการผลิตที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำ แต่มีมูลค่าสูงรวมถึงอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร