ECONOMICS

รัฐหั่นลดวงเงินกู้ กฟผ. เชื่อไม่กระทบแผนลงทุน พร้อมเล็งตั้งอินฟราฟันด์
POSTED ON 23/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลจะมีการปรับแผนการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งส่วนหนึ่งจะปรับลดวงเงินกู้ของ กฟผ.ลงจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทนั้น ทาง กฟผ.ได้หารือกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางการปรับลดลงวงเงินกู้แล้ว ซึ่งไม่กระทบต่อแผนลงทุนโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งของ กฟผ.ที่มีอยู่ เนื่องจาก กฟผ.ได้มีการระดมเงินผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ ซึ่งเป็นกองทุนรวมของรัฐวิสาหกิจกองแรกของประเทศไทย ที่ได้มีการแต่งตั้งธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินไปตั้งแต่เดือน พ.ย.2556 ที่ผ่านมา

 

สำหรับแผนการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2557 นี้ จากเดิมที่จะต้องตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หลังจากที่มีการตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โดยระยะเวลาอาจจะต้องชะลอไปบ้าง เนื่องจากต้องรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้อนุมัติ แต่ก็จะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนของ กฟผ.

 

“การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ในการจัดหาแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ เพื่อให้สามารถจัดหาเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยไม่ติดข้อจำกัดด้วยภาระหนี้ของประเทศ ซึ่ง กฟผ.จะใช้รายได้หรือกระแสเงินสดในอนาคตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือเป็นทรัพย์สินในการระดมทุน ไปลงทุนในการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโครงการขยายระบบส่ง เบื้องต้นได้ประมาณขนาดของกองทุนรวม ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีอายุกองทุน 15-25 ปี” นายสุนชัย กล่าว

 

นายสุนชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ กฟผ.จะต้องเร่งดำเนินการในช่วงระหว่างรัฐบาลรักษาการคือ การนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะชุดใหม่ขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาทดแทนชุดเดิมเครื่องที่ 4-7 ที่จะมีการปลดระวางออกไป โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ ครม.แล้ว แต่ต้องมีการสอบถามความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเดิมที่ ครม.เคยมีมติไปแล้ว และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางไฟฟ้า

 

โดยปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะชุดใหม่ ขนาด 600 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท  อยู่ในระหว่างการคัดเลือกกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งตามแผนจะต้องแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2561