ECONOMICS

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 4/2562
POSTED ON 09/04/2563


 

 

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)หดตัวร้อยละ 6.9 โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 4/2562 อาทิ การผลิตรถยนต์ จากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง ทำให้ปริมาณจำหน่ายในประเทศหดตัว รวมไปถึงคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ปริมาณส่งออกลดลงเช่นเดียวกัน การกลั่นปิโตรเลียม การผลิตลดลง เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นบางโรง การผลิตน้ำตาล ภาวะการผลิตลดลง เนื่องจากปีนี้เปิดหีบช้ากว่าปีก่อนรวมถึงชาวไร่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าปีก่อน

อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 4/2562 อาทิ เครื่องปรับอากาศ จากปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าเครื่องปรับอากาศประเภทอินเวอร์เตอร์ รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อนต่อเนื่องทั่วประเทศแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาว เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนและอินเดียจากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ Hard Disk Drive การผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ผู้ผลิตรายใหญ่ปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ทำให้มีการย้ายฐานมาผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ Hard Disk Drive เพิ่มมากขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2563

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่น การลงทุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ไฟฟ้า คาดว่า จะมีการผลิตและมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และ 5.0 ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับตัวในการหาตลาดใหม่ในการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.7 และ 1.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าจะเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าหลัก เช่น HDD ผู้ประกอบการผลิต HDD มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยทำให้คำสั่งซื้อจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น

รถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 500,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 490,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ แนวโน้มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะขยายตัวได้ไม่มากนักอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยตลาดส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์ แต่สำหรับกลุ่มเยื่อกระดาษ คาดว่า การส่งออกจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2562

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับมูลค่าการนำเข้าคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวด้วยเช่นกัน จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากจีน

ปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิต และการจำหน่ายคาดว่าอาจจะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่าง ๆ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อยตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ในส่วนผ้าผืน คาดว่า จะลดลงตามทิศทางตลาดส่งออกและความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่ค่อนข้างชะลอตัว ด้านการส่งออก คาดว่า เส้นใยสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะขยายตัวได้จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมีท่าทีผ่อนคลายลง สำหรับการนำเข้าเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มขึ้นของการส่งออกในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

ยา การผลิตและจำหน่ายยาในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.42 และ 0.33 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับตลาดส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม สิงคโปร์ และกัมพูชา

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยาง คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30 และ 1.20 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มความต้องการใช้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รองเท้าและเครื่องหนัง การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอกจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากฐานของไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ในระดับสูง และการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตัวเองหันไปจ้างประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ผลิตแทน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย อีกทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเพื่อการส่งออกตามความต้องการของกลุ่มประเทศ CLMV ช่วงเทศกาลสำคัญ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น จากความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ

อัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกถึง ร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม จากการที่ผู้ประกอบการเน้นการผลิตสินค้าใหม่ที่มีดีไซน์ตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคยุคใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมส่งเสริมการซื้อในช่วงเทศกาลสำคัญต้นปี

อาหาร ดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร จะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดในจีน อาจส่งผลให้กลุ่มอาหารสด ชะลอตัวเนื่องจากอายุการเก็บรักษาสั้น ไม่สามารถสต๊อกได้นาน อย่างไรก็ตามไทยน่าจะได้รับอานิสงค์จากภาวะโรคระบาดดังกล่าวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และอาหารกระป๋องต่าง ๆ อาจจะมีการเพิ่มคำสั่งซื้อหรืออาจเร่งการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้นเพื่อสต๊อกสินค้า นอกจากนี้ อาจจะได้รับปัจจัยบวกจากภาวะโรคไข้หวัดนกที่กำลังระบาดในจีน และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ระบาดในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป เพิ่มขึ้น