ECONOMICS

สศอ.ห่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ชัด คาดส่งออกไตรมาสแรกหดตัว
POSTED ON 22/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการฟื้นตัวขอเศรษฐกิจโลกที่ไม่ชัดเจน จึงคาดว่าจะส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปีนี้จะยังคงหดตัวลงต่อเนื่องจากปี 2556 ที่หดตัว 3% ซึ่งขณะนี้ สศอ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจะเผยแพร่เป็นทางการวันที่ 28 มกราคม 2557

 

โดยก่อนหน้านี้ สศอ.ประเมินว่าการผลิตอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักๆ แต่ปรากฏว่าการฟื้นตัวแต่ละประเทศไม่มีความชัดเจน เช่น กรณีของสหรัฐฯที่แม้พบว่าตัวเลขการว่างงานลดลง แต่ก็เป็นข้อมูลที่ต้องระวัง เพราะการลดลงดังกล่าวเกิดจากที่แรงงานหางานทำไม่ได้แล้วออกจากตลาดแรงงานไปทำอย่างอื่น ดังนั้น จึงต้องจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด รอบที่จะถึงนี้ว่ามีการลดมาตรการคิวอีลงอีกหรือไม่ที่จะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ

 

ในส่วนญี่ปุ่นที่เห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้เพิ่มเพราะเศรษฐกิจดีมีความต้องการใช้จ่ายเพิ่มแต่เป็นการเพิ่มทางฝั่งของอุปทาน คือ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามค่าเงินเยนที่อ่อนลง ส่วนยุโรปหลายประเทศการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับสูง

 

สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศในขณะนี้ที่กระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายตลอดจนภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นไปแตะ 80% ของจีดีพี จนกำลังซื้อของประชาชนลดลงและกระทบไปสู่ภาคการผลิต แต่ผลกระทบจากกำลังซื้อภายในประเทศ ก็มีผลกระทบน้อยกว่าสถานการณ์ในต่างประเทศ เพราะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมกว่า 60% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก

 

"สภาพการณ์ในประเทศมีผลต่อภาคการผลิต แต่ไม่เท่าภาคต่างประเทศ เห็นได้จากทุกทั้งที่เรามีปัญหาเช่น ความรุนแรงทางการเมืองปี 2553 แต่การผลิตก็ยังเพิ่มขึ้น เพราะการส่งออกยังอยู่ในระดับสูง” นายสมชาย กล่าว

 

ทั้งนี้ สศอ.ยังอยู่ในช่วงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจะยังไม่ปรับประมาณการที่คาดว่าปี 2557 จีดีพีอุตสาหกรรมจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3-4% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ขยายตัว 2%

 

อย่างไรก็ตาม จากยอดการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตในช่วงปลายปี 2556 ที่หดตัวต่อเนื่องทำให้คาดว่าจะเห็นการส่งออกในไตรมาสแรกนี้หดตัวลงเช่นกัน เพราะการผลิตเพื่อส่งออกในไตรมาสแรกจะมีการนำเข้าวัตถุดิบตั้งแต่ปลายปีก่อนหน้า แต่การนำเข้าที่หดตัวนี้แสดงว่าผู้ประกอบการอาจจะชะลอดูสถานการณ์และใช้สต็อกเก่าในการผลิตไปก่อน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมศุลกากรระบุให้เห็นการหดตัวของการนำเข้าสินค้าทุนที่ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี2556 โดยมีการหดตัว 6.1% ในไตรมาสที่ 3/2556 และหดตัวต่อเนื่อง 10.5% และ 14.5% ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2556 ตามลำดับ ส่วนของสินค้าขั้นกลางนั้นพบว่ามีการหดตัว 2.6% ในไตรมาสที่ 3/2556 หดตัว 1.1% และ 5.8% ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2556 ตามลำดับ