ECONOMICS

อุตสาหกรรมเหล็กโลกชะลอตัว เหตุจากเศรษฐกิจ EU ฟื้นช้า
POSTED ON 17/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - ภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ภาพรวมยังทรงตัวใกล้เคียงกันกับเดือนก่อน เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว และการส่งออกสินค้ายังได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงจากผลกระทบของการใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวของจีน

 

ขณะที่ด้านเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลการค้า ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทยและการฝากเงินในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ ในภาพรวมดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2556 พบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลงและความไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลต่อบรรยากาศการลงทุน ส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทในเดือนพฤศจิกายนอ่อนตัวลงมาถึงร้อยละ 3.2

 

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กของโลกในช่วงเดือนกันยายน 2556 ถึงปัจจุบัน พบว่า ยังคงชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรปที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการเหล็กของโลก

 

ขณะที่ปริมาณการผลิตเหล็กของโลกยังคงมีปริมาณมากและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับราคาเหล็กของโลกเฉลี่ยลดลง แต่ระดับราคาวัตถุดิบกลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานเหล็กสำเร็จรูปมีผลกำไรเล็กน้อย หรือบางรายต้องประสบปัญหาขาดทุน และเมื่อพิจารณาการผลิตเหล็กดิบของโลกพบว่า ในเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ผลผลิตเหล็กดิบของโลกขยายตัวจากปี 2555 ถึงร้อยละ 7.3 โดยมีผลผลิตรวมอยู่ที่ 134.3 ล้านตัน การเพิ่มขึ้นของผลผลิตมาจากแรงผลักดันในการผลิตที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศเอเชียที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 และกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกาเหนือขยายตัวร้อยละ 6.6

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ระดับราคาผลิตภัณฑ์เหล็กดุลยภาพของตลาดในปี 2557 นี้จะมีศักยภาพมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

สถานการณ์เหล็กในประเทศไทย มีปริมาณการใช้เหล็กในไทยช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2556 อยู่ที่ 13.56 ล้านตัน ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 11.68 และคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้เหล็กทั้งปี 2556 ของไทยจะอยู่ที่ปริมาณ 18.48 ล้านตัน ขยายตัวจากปี 2555 ที่ร้อยละ 10.92 ส่วนการนำเข้าขยายตัวอย่างมากถึงร้อยละ 18.93 การนำเข้าของผลิตภัณฑ์เหล็กยาวขยายตัวมากที่ร้อยละ 28.3 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนขยายตัวร้อยละ 16.3 ทั้งนี้ การขยายตัวค่อนข้างมากของการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมาจากการนำเข้าเหล็กเส้นสำหรับก่อสร้างและเหล็กลวด ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนได้รับแรงหนุนจากการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 27.2 ขณะที่ปริมาณการผลิตเหล็กสำเร็จรูปกลับหดตัวลดลงร้อยละ 2.07

 

สำหรับดัชนีชี้นำล่วงหน้าของอุตสาหกรรมเหล็กที่จัดทำโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงถึง การคาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กล่วงหน้า (3-6 เดือน) พบว่าความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมเหล็กอยู่ในภาวะ "หดตัว" ถือเป็นดัชนีชี้นำล่วงหน้า ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวความต้องการในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีความชัดเจนว่าความต้องการใช้เหล็กยังคงชะลอตัวต่อไปอีกจนถึงช่วงไตรมาส 1 ของปี 2557 นี้

 

ในขณะที่สถานการณ์ราคาเหล็กสำเร็จรูปโดยเฉลี่ยในตลาดโลกยังคงทรงตัว ที่สำคัญผู้ซื้อไม่ยอมรับราคาเหล็กที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ขายต้องลดระดับราคาลงมา โดยระดับราคาบิลเล็ต Black Sea ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 515 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนบิลเล็ตที่ถูกจัดส่งไปยังตุรกีอยู่ที่ 525-530 เหรียญสหรัฐ/ตัน ด้านราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนราคายังทรงตัว และในตลาดยังไม่มีการตัดราคา เนื่องจากสต็อกเหล็กที่มีอยู่ลดลง

 

ด้านราคาเหล็กแผ่นรีดร้อน ระดับราคายังคงทรงตัวและในตลาดยังไม่มีการตัดราคา เนื่องจากสต็อกเหล็กลดลง ขณะที่ระดับราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนอยู่ที่ 568-573 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่สำหรับตลาดเหล็กลวดในเมืองเซี่ยงไฮ้ปรับตัวดีขึ้นปานกลาง ระดับราคาขยับเพิ่ม 3 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคา Spot อยู่ที่ 553-556 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาวัตถุดิบอย่างเศษเหล็กกลับปรับราคาสูงขึ้น สวนทางกับความต้องการในตลาดที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งระดับราคาเศษเหล็กในญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-10 เหรียญสหรัฐ/ตัน อยู่ที่ 382 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนระดับราคาเศษเหล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 367-368 เหรียญสหรัฐ/ตัน

 

ราคาเหล็กในประเทศไทยโดยเฉลี่ยลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก โดยเหล็กเส้นก่อสร้างและเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากความต้องการที่ชะลอตัว แต่ระดับราคาเหล็กแผ่นรีดเย็นกลับปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 500 บาท/ตัน ทั้งนี้ ระดับราคาเหล็กเส้นก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 23,000-25,000 บาท/ตัน ส่วนระดับราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20,300-22,800 บาท/ตัน ขณะที่ระดับราคาเหล็กแผ่นรีดเย็นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 24,500-25,500 บาท/ตัน