ECONOMICS

อุตฯ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย หากไม่ปรับตัว เพื่อนบ้านแซงแน่
POSTED ON 17/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลงอย่างมาก สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลง 3.05% โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ถือเป็นแรงส่งท้ายปีที่ไม่ดี แม้ว่า สศอ.จะมองว่าแนวโน้มปี 2557 คาดว่าภาพรวมการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3% ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นการเติบโตที่ลดลงถ้าเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เป็นดาวเด่นต่อเนื่องหลายปีในแง่การส่งออก

 

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จะเห็นว่าแท็บเลตและสมาร์ทโฟนจะเข้ามามีผลต่อตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โดยตรง และถ้าดูตามภาวะตลาดความต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในปีที่ผ่านมาก็ลดลง 30% ทั้งนี้ จากการสำรวจของบริษัทในต่างประเทศพบว่า ยังมีกลุ่มคนที่ใช้โน้ตบุ๊กทำงาน โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ในขณะที่เครื่องแมคฯ (Mac) ของยี่ห้อแอปเปิลยังขายได้ นั่นหมายความว่าตลาดคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กยังไม่ตกรถไฟทันที และยังมีตัวชิ้นส่วนที่เก็บข้อมูลสามารถปรับตัวไปใช้งานกับงานเซิร์ฟเวอร์ในสำนักงานเพื่อต่อเชื่อมกับระบบฐานข้อมูล (Database) ได้

 

จะเห็นว่าภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศในลำดับต้นๆ แม้ว่าในช่วง 8-9 เดือน ปี 2556 ภาพรวมส่งออกจะติดลบไปแล้ว 1-2% เมื่อเทียบกับปี 2555 ช่วงเดียวกัน  ซึ่งขณะนี้ยังรอดูว่าตัวเลขส่งออกทั้งปีในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร

 

นายสมบูรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ปี 2557 ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทต่อการส่งออก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ และปลายปี 2556 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น มีตัวเลขการว่างงานลดลง แม้ว่าตลาดยุโรปยังไม่ดีขึ้น แต่ภาพใหญ่ที่ทั่วโลกมองคืออุตสาหกรรมกลุ่มนี้ยังมีความต้องการอยู่ เพียงแต่เทคโนโลยีทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกที่มีฐานผลิตอยู่ในไทย เช่น บริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนไป

 

ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าจะอยู่รอดโดยแข่งขันได้ก็ต้องปรับเทคโนโลยี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกรีนโปรดักต์ ต้องประหยัดพลังงาน และจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะต้องนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน ขณะที่อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีก็ต้องปรับตัว เช่นเดียวกับการพัฒนาคนที่จะต้องมีทักษะ มีขีดความสามารถในการทำงานคู่กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ จากเดิมที่คนทำงานกับชิ้นงาน ต่อไปคนก็จะมาทำงานควบคุมเครื่องจักร ควบคุมระบบผลิตที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวมากกว่า 5 แสนคน ก็ยังเป็นอัตราที่ขาดแคลนอยู่ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไหนบูม คนก็จะเคลื่อนย้ายเข้าไป พอมีปัญหาค่าแรงคนก็ย้ายออก

 

ดังนั้น จากนี้ไปสิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวให้เร็วที่สุดก่อนคือ การแก้ปัญหาคนขาดแคลน และเร่งพัฒนาคนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการสร้างรายได้เข้าประเทศในลำดับต้นๆ โดยปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกและขายในประเทศราว 2 ล้านล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.6-1.7 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่พัฒนาหรือยกระดับคน และยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น ในอนาคตอาจจะเสียโอกาสให้กับเวียดนามได้ ดูจากคู่แข่งขันในอาเซียนที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในขณะนี้คือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ มาเลเซียและไทย  ส่วนเวียดนามแม้ยังไม่ติดอันดับที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดแต่ขณะนี้เวียดนามก็มีการส่งออกต่อปีในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้สูงขึ้น  เนื่องจากมีฐานการผลิตสมาร์ทโฟนของซัมซุงซึ่งเป็น 1 ใน 2 ฐานหลักรองจากฐานผลิตของซัมซุงที่เกาหลี และมีฐานผลิตChip ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของอินเทล สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เวียดนามมียอดส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 

 

ขณะที่ฐานลงทุนในไทย ซัมซุงจะลงทุนเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท โดยจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งในอาเซียนมีความน่าลงทุนมากขึ้น เพราะมีแรงจูงใจหลายด้าน ทั้งค่าแรงถูก มีตลาดขนาดใหญ่กว่าไทย บางประเทศก็มีต้นทุนด้านพลังงานที่ถูกกว่าไทย เป็นต้น

 

ระยะหลังประเทศไทยเริ่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งแรงงานขาด ค่าแรงแพง ปัญหาอุทกภัย และข้อจำกัดด้านการลงทุน จะเห็นชัดเจนจากบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ที่โรงงานผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมากถึง 30% ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเสียโอกาสการค้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากลูกค้าหันไปสั่งออร์เดอร์กับประเทศคู่แข่งแทน จนถึงขณะนี้ยังมีออร์เดอร์ที่ไหลออกไปในช่วงนี้ แม้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเดินการผลิตได้ตามปกติแล้วก็ตาม