ECONOMICS

นักลงทุนนอกกังวลการเมืองไทย "บีโอไอ" ยัน ยอดขอส่งเสริมฯ ยังไม่ตก
POSTED ON 16/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ถึงสถานการณ์การชัตดาวน์กรุงเทพฯของกลุ่ม กปปส. ว่า สิ่งที่นักลงทุนมักสอบถามบีโอไอมี 2 ประเด็น คือ (1) การเปิดบริการปกติหรือไม่ เนื่องจากสำนักงานบีโอไอซึ่งอยู่ในพื้นที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีการปิดอาคาร เพราะใกล้พื้นที่ชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ทั้งนี้ บีโอไอจะให้บริการนักลงทุนที่อาคารจามจุรีสแควร์ ที่สามย่านแทน และยังเปิดให้บริการข้อมูลทางโทรศัพท์และผ่านระบบออนไลน์ ถือเป็นระบบหลักในการให้บริการขณะนี้ และ (2) ความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่มีการปรับสิทธิประโยชน์บางประเภทให้อุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนมากขึ้น ซึ่งบีโอไอกำหนดบังคับใช้ต้นปี 2558 เพราะนักลงทุนกังวลว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยบีโอไอยืนยันว่ายังคงบังคับใช้ตามเดิมแน่นอน

 

"นักลงทุนที่กังวลส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนหน้าใหม่ บีโอไอได้ชี้แจงให้เกิดความมั่นใจได้ ขณะที่นักลงทุนหน้าเก่า หรือนักลงทุนที่ลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้วค่อนข้างมั่นใจการลงทุนในไทย โดยช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคมนี้ พบว่า ยังมีนักลงทุนยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไออย่างต่อเนื่อง" นายอุดม กล่าว

 

ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติพบว่าส่วนใหญ่จะบ่นเกี่ยวกับสถานการณ์ว่ากระทบต่อธุรกิจ และตั้งคำถามว่าจะมีบทสรุปอย่างไรเพราะยืดเยื้อมาหลายเดือนแล้ว โดยนักลงทุนไม่กังวลกับเหตุการณ์มากเพราะไม่มีความรุนแรง และไม่มีการปิดสนามบิน ท่าเรือ ที่กระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การขนส่ง สถานการณ์ปัจจุบันจึงสรุปได้ว่าทำให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของประเทศลดลง ประกอบกับการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของหลายหน่วยงานเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ช้าลง ภาพรวมจึงไม่ดีนัก

 

"อย่างไรก็ตาม มีผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยบางรายระบุว่าจะชะลอการลงทุนในไทยออกไปก่อน เพราะมีความกังวล อยากให้สถานการณ์จบโดยเร็ว และประเทศเกิดความสงบ" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

 

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้หารือกับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างพบว่าการเติบโตของปีนี้มีโอกาสลดลง ผิดไปจากที่คาดการณ์ก่อนการชุมนุมว่าการก่อสร้างของประเทศจะเติบโต ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาไม่สามารถวางแผนธุรกิจได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนในภาพรวม