ECONOMICS

ญี่ปุ่นห่วงความขัดแย้งยืดเยื้อ จ่อถอยลงทุนไทย สศค.หวั่นจีดีพีต่ำกว่า 3%
POSTED ON 15/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันระหว่าง รมช.คลัง และ 3 กรมจัดเก็บภาษี ว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คงต้องจับตา 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การส่งออก ที่ยังพอมีปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท (2) การลงทุนของภาครัฐ ซึ่งได้มีการอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ 2557 ไว้แล้ว (3) การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน ที่ขณะนี้เริ่มเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย และ (4) ปัจจัยเรื่องรายได้ของภาคแรงงานที่อาจปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงตามไปด้วย

 

ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลรักษาการรวมถึงหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องยังคงปฏิบัติ หน้าที่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีกลุ่ม กปปส.ปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ลดลงไปบ้าง

 

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า อยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติโครงการลงทุนใดๆ ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่กังวลคือการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติ อาจส่งผล กระทบให้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้เติบโตต่ำกว่า 3% จากที่ประเมินว่าจะเติบโต 4% ภายใต้สมมติฐานมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557

 

อย่างไรก็ตาม หากการเมืองยืดเยื้อจะส่งผลให้กำลังการบริโภคในประเทศชะลอลง และอาจทำให้เกิดการปิดกิจการของผู้ประกอบการ และกระทบระบบสถาบันการเงินที่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการลงทุนที่แม้นักลงทุนต่างประเทศจะยังไม่ถอนการลงทุนออกไป แต่ก็ยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม

 

ขณะที่ทางด้าน นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะรองประธานหอการค้าไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นได้มีการพบปะพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในเมือง ไทยขณะนี้ และมีความเห็นตรงกันว่าหากสถานการณ์มีความยืดเยื้อ จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงอาจทำให้บริษัทจากญี่ปุ่นต้องทบทวนแผนการเข้ามาลงทุนในไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เนื่องจากหลังสามารถผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มาแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมาก อีกทั้งมีการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงต้องการให้ ทุกอย่างจบลงอย่างรวดเร็ว