ECONOMICS

หวั่นการเมืองฉุดเศรษฐกิจดิ่งเหว แบงก์แห่ตุนเงินสดรับยืดเยื้อ
POSTED ON 13/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคการเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังรัฐบาลใหม่และข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจปี 2557 จากวิกฤติการเมืองในประเทศ ว่า ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ได้ 4-5% ตาที่ประเมินไว้ โดยสภาที่ปรึกษาฯ ตั้งสมมติฐานว่า หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปีนี้รวมทั้งเกิดเหตุการณ์พิเศษ เช่น ปฏิวัติ รัฐประหาร ก็อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น

 

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ยังได้จัดทำข้อเสนอเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อที่จะมอบหมายให้กับพรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็นรัฐบาล มีข้อมูลจัดทำนโยบายที่เหมาะสมภายหลังการเลือกตั้ง โดยจะมอบให้ครบทุกพรรคให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ แบ่งเป็น นโยบายด้านเศรษฐกิจ 8 ข้อ คือ มาตรการเร่งด่วนสนับสนุนและแก้ปัญหาการส่งออก โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ, การช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี), กู้ภาพลักษณ์ทางด้านท่องเที่ยว

 

รวมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ, แก้ปัญหาคอรัปชั่น, ทบทวนนโยบายการบิดเบือนราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว, ไม่นำนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เพราะกระทบต่อต้นทุนของภาคเอกชน และเร่งรัดการแก้ไขหนี้สินครัวเรือน

 

แบงก์ตุนเงินสดรับยืดเยื้อ

 

ด้าน นายปริยวัจน์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เห็นความเคลื่อนไหวของธนาคารพาณิชย์ทยอยเบิกจ่ายธนบัตร จากศูนย์เก็บธนบัตรของ ธปท. ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ อาจเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่จะนัดชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ในวันที่ 13 มกราคม 2557 ซึ่งประเมินกันว่าอาจยืดเยื้อ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมสำรองปริมาณธนบัตรเอาไว้ให้เพียงพอรับมือ หากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

ขณะที่ทางด้านความเคลื่อนไหวของกระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งเตรียมพร้อมไม่ให้การบริการประชาชนสะดุด ให้หน่วยงานในสังกัดประชาสัมพันธ์กรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤต ประชาชนไม่สามารถติดต่อส่วนราชการได้ตามปกติ จะให้ติดต่อช่องทางไหน ซึ่งแต่ละกรมจะดำเนินการเอง อาทิ การยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ที่ต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ให้ยื่นก่อน หรือยื่นทางอินเทอร์เน็ตได้ หรือหากเข้าสำนักงานสรรพากรไม่ได้ ก็ยื่นต่างพื้นที่ได้ ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลางจะตัดระบบ e-GP ออกไปก่อน และให้ส่วนราชการจัดประมูลที่ตลาดกลางที่มีอยู่ทั่วประเทศ ส่วนการเบิกจ่ายไม่มีปัญหา

 

ทางด้าน นายภานุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การชัตดาวน์กรุงเทพฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจไทย เพราะหากนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยจะวนเวียนอยู่กับภาวะซบเซาต่อไปอีกยาวนาน ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากหลายด้าน โดยเฉพาะการเมือง จะส่งผลให้นโยบายการคลังไม่สามารถส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ เพราะนโยบายของรัฐบาลใหม่จะขาดการเชื่อมโยงกับรัฐบาลเดิม อาจต้องรื้อโครงการกันใหม่ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

 

"เชื่อว่านโยบายการคลังจะไม่สามารถชดเชย การบริโภคอุปโภค การลงทุนของภาคเอกชนที่ซบเซาให้ฟื้นในระยะสั้นได้ ทั้งการไม่เคารพกฎกติกากฎหมายซึ่งส่งผลให้เกิดความวุ่นวายต้องมองไปที่ต่างชาติว่าเขาคิดเห็นอย่างไร ทั้งนี้ การจัดการด้านการเงินขณะนี้ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก และไม่ได้มีผลกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น" นายภานุพงศ์ กล่าว

 

เช่นเดียวกับ นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ฯ หากการเมืองมีความรุนแรง แต่ถ้ายุติลงได้เร็ว ไม่ยืดเยื้อ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบตามภาวะเศรษฐกิจ 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธปท. กล่าวว่า เตรียมนำผลกระทบทางการเมือง การเลื่อนเบิกจ่ายโครงการ 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 ม.ค. 2557 นี้ เช่นเดียวกันการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจปี 2557 หากมีปัจจัยที่กระทบอย่างมีนัยสำคัญ กนง.ก็อาจปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่จากเดิมมองไว้ที่ 4% ในปีนี้