ECONOMICS

อุตสาหกรรมก่อสร้าง ปีม้าไม่คึกคัก แนะผู้ประกอบการตั้งรับความเสี่ยง
POSTED ON 11/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างมีความคึกคักมาก ทั้งการก่อสร้างในส่วนของโครงการภาครัฐที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล การก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอื่น อาทิ การขยายโครงข่ายถนนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และ และการปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟโดยเปลี่ยนมาใช้รางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและใช้หมอนคอนกรีตแทนหมอนไม้ ระยะที่ 5 (สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางแก่งคอย-แก่งเสือเต้น ช่วงสุรนารายณ์-ชุมทางบัวใหญ่ และช่วงชุมทางถนนจิระ-ชุมทางบัวใหญ่ รวมระยะทางทั้งสิ้น 308 กม.) และระยะที่ 6 (สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย ระยะทาง 278 กม.) เป็นต้น

 

ส่วนการก่อสร้างของภาคเอกชน มีการเติบโตออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เนื่องจากกิจกรรมเศรษฐกิจของภาคเอกชนขยายตัวไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเติบโตของการค้าและการลงทุน เช่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และเชียงราย เป็นต้น และแม้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างจะหนุนให้กลุ่มผู้รับเหมาปรับตัวดีขึ้น แต่ก็กลับสร้างแรงกดดันและนำมาซึ่งอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของโครงการก่อสร้างหลายโครงการในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีผลกระตุ้นให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน อย่าง ปูนซีเมนต์ เนื่องจากอุปสงค์สินค้าวัสดุก่อสร้างขยายตัว นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง น่าจะชะลอตัวลงจากในช่วงที่ผ่านมา เพราะผลจากปัจจัยเฉพาะของภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพานโยบายการลงทุนของภาครัฐ และผลจากประเด็นการเมือง ก็กระทบต่อบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ทำให้ภาคเอกชนโดยรวมชะลอการลงทุนออกไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ดังนี้

 

ภาวะอุตสาหกรรมก่อสร้างในปีม้านี้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2556 ซึ่งมีผลมาจากอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่จะมีผลต่อเนื่องไปยังการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจะมีผลต่อกิจกรรมการลงทุนในประเทศไทยจากนักลงทุนต่างชาติในระยะข้างหน้า

 

อย่างไรก็ดี ภาคก่อสร้างยังมีแรงหนุนเฉพาะจากกิจกรรมเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะผลประโยชน์ต่อเนื่องจากการค้าและการลงทุนที่คึกคักตามแนวชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะส่งผลให้การลงทุนก่อสร้างในกลุ่มพาณิชยกรรมเติบโตตามไปด้วย และอาจทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งจำเป็นพื้นฐานจากภาครัฐตามมา เช่น การปรับปรุงโครงข่ายถนนและระบบราง นอกจากนี้ การเร่งลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ทันและพร้อมสำหรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็เป็นอีกปัจจัยบวกหนึ่งสำหรับกลุ่มผู้รับเหมาในต่างจังหวัด ให้สามารถมีโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างในประเทศ    เพื่อนบ้าน อาทิ การก่อสร้างและตกแต่งบ้านเรือนใน สปป.ลาว และด้วยเหตุจากปัจจัยบวกนี้ น่าจะส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ยังคงขยายตัว แม้ว่าอัตราการเติบโตของปริมาณงานก่อสร้างมีแนวโน้มต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาพรวมการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชน ในปี 2557 ดังนี้

 

การก่อสร้างภาครัฐส่วนใหญ่ น่าจะมาจากโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้แล้วเสร็จทันกำหนด ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ส่งผลให้การพิจารณาลงทุนโครงการต่างๆ ชะลอออกไป นอกจากนี้ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ก็ยังหยุดชะงัก เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังต้องรอนโยบายลงทุนจากรัฐบาลใหม่

 

อย่างไรก็ดี แม้แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมฯดังกล่าวจะล่าช้าออกไป แต่การก่อสร้างภาครัฐในปี 2557 นี้ จะยังได้รับอานิสงส์จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ วงเงิน 12,224 ล้านบาท (มีความเป็นไปได้ที่งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2557) และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงิน 20,458 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะลงทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้งบปกติ ประจำปีงบประมาณ 2557 เช่น โครงการเร่งรัดขยายถนน 4 ช่องจราจรระยะที่ 2 (เช่น สายอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ และสายอำเภอแก่งคร้อ-ชุมแพ) วงเงิน 3,780 ล้านบาท และการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ สะพานและอุโมงค์  7 โครงการ (เช่น แยกเดชาติวงศ์ และเลี่ยงเมืองนครสวรรค์) และวงเงิน 4,890 ล้านบาท จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างโครงการภาครัฐน่าจะยังขับเคลื่อนได้ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจะลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ซึ่งวางแผนเปิดประมูลในปี 2557 คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 116,000 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา วงเงิน 38,168 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการยุบสภาอาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ และการอนุมัติโครงการต่างๆ มีความล่าช้า ทั้งนี้ การก่อสร้างของภาครัฐในแต่ละปี มีการเบิกจ่ายเพื่อใช้ลงทุนก่อสร้างสูงในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลายก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการภาครัฐ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ กิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐ น่าจะเติบโต ณ ราคาปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 0.5 - 3.0 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2556 ที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 0.3

 

สำหรับทิศทางการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2557 นี้  โดยภาพรวมคาดว่าจะเติบโตชะลอลง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ที่คาดว่าการลงทุนโครงการใหม่ในปี 2557 คงจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มการพัฒนาคอนโดมิเนียม เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยมีปัจจัยเฉพาะที่เข้ามากดดันกิจกรรมการลงทุน เช่น กำลังซื้อที่อ่อนตัวลงเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

 

ขณะที่กิจกรรมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ยังคงมีแผนการขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัด เพื่อรองรับกับการเติบโตของสังคมเมือง ประกอบกับจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ของเออีซี และจังหวัดที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวยังมีภาพของกิจกรรมการลงทุนในการก่อสร้าง

 

สำหรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม บางส่วนอาจเลื่อนแผนลงทุนไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเฝ้ารอความชัดเจนทางการเมือง อย่างไรก็ดี ภาพรวมการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2557 น่าจะขยายตัวในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่มุ่งเน้นการส่งออก

 

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ กิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชน น่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 4.0 – 6.7 ชะลอลงจากปี 2556 ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 8.2

 

จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้รับแรงผลักดันจากภาคเอกชนเป็นหลัก และคาดว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างในปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลง ร้อยละ  2.5 – 5.0 หรือมีมูลค่า 994,500 – 1,018,500 ล้านบาท จากมูลค่าการก่อสร้างในปี 2556 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ที่ 970,000 ล้านบาท

 

โดยสรุป แม้การชะลอการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... เป็นข้อจำกัดให้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2557 ขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นช่วงเวลาที่ภาคก่อสร้างจะได้ปรับตัวจากประเด็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเติบโตค่อนข้างมาก จากกิจกรรมการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีหลายโครงการพร้อมกัน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก  ทั้งนี้ การเลื่อนระยะเวลาลงทุนออกไป ทำให้กลุ่มผู้รับเหมาจะสามารถรับผิดชอบงานที่มีอยู่มากในมือให้แล้วเสร็จทันเวลาและมีประสิทธิภาพได้

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะซีเมนต์ที่เป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วนการใช้สูงในอันดับต้นๆ โดยรวมในปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2555 เนื่องจากความต้องการใช้ที่เติบโตตามกิจกรรมก่อสร้าง ดังนั้นการชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็อาจจะมีผลช่วยชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการก่อสร้าง ให้มีเวลาในการเตรียมพร้อมแผนจัดการกับปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2557 นี้ ผู้ประกอบการอาจต้องวางแผนตั้งรับและปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่รุมเร้า โดยเฉพาะประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลกระทบกับแผนลงทุนก่อสร้างโครงการภาครัฐ ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ