ECONOMICS

แบงก์เข้มปล่อยกู้ หลังหนี้เสีย SMEs กระฉูด ธุรกิจพับแผนลงทุน
POSTED ON 10/01/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอีรายเล็ก ในภาพรวมเร่งตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุจากเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบต่อการบริโภค และส่งต่อมายังผู้ประกอบการที่สายป่านสั้น อีกทั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายยังถูกกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งต้องจับตาระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า หากปัญหาการเมืองไม่จบ อาจเห็นผู้ประกอบการบางรายปิดกิจการลงก็เป็นได้

 

กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี จะมีสายป่านค่อนข้างสั้น โดย 60-70% เป็นผู้ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไป และธุรกิจบริการเป็นหลัก ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ก็มีมาร์จิ้นสูงเช่นกัน ทำให้ที่ผ่านมา หลายธนาคารบุกตลาดนี้มากขึ้น แต่ธนาคารกรุงศรีขณะนี้เริ่มปรับลดสัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้ลง และเพิ่มลูกค้ารายกลางมากขึ้น

 

"ตั้งแต่ต้นปี เราเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรายจิ๋วมาก ปรับเงื่อนไข ลดวงเงินลงบ้าง รวมถึงให้สาขาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะมองแนวโน้มเศรษฐกิจจะแผ่วตัว และมีความเสี่ยง ทำให้เราไม่เจ็บตัวมากนัก" นายสยามกล่าว

 

ด้าน นายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากการสอบถามลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีในเวลานี้ หลายรายเริ่มประสบปัญหากรณีไม่ได้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากคู่ค้าได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงพยายามเก็บเงินสดไว้ในมือ ทำให้เริ่มมีปัญหาด้านสภาพคล่องบ้างแล้ว และเป็นปัญหาลูกโซ่ที่จะทำให้ความสามารถชำระหนี้ต่ำลง ซึ่งผู้ประกอบการและธนาคารต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม 

 

นายเวทย์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารได้เปิดบริการออกหนังสือค้ำประกันทันใจสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะประมูลโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท แต่หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภา ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาครัฐและบริการธุรกรรมเหล่านี้ลดจำนวนลงไปค่อนข้างมาก

 

"ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อรับงานภาครัฐของเราแทบจะแท้ง เดิมเราตั้งความหวังไว้เป็นดาวเด่น เพื่อสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีธุรกรรมเลย ลูกค้าเดิมก็เริ่มมีปัญหา ขอให้ช่วยขยายระยะเวลา" นายเวทย์กล่าว

 

ด้าน นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์และปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้ลูกค้าเริ่มทยอยคืนวงเงินสินเชื่อมากขึ้นราว 25% ของพอร์ตสินเชื่อรวม 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.25 แสนล้านบาท เนื่องจากไม่มีแผนในการขยายธุรกิจเพิ่มเติม รวมถึงไม่อยากมีภาระในช่วงที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะมีความต่อเนื่องมาถึงปี 2557

 

"โจทย์ท้าทายในปี 2557 คือการเร่งหาลูกค้าใหม่เข้ามาทดแทนลูกค้าเก่า ที่ความต้องการทางสินเชื่อหายไป ในภาวะเศรษฐกิจขาลง และการเมืองยังตึงเครียด" นายพัชร กล่าว 

 

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงอัตราหนี้เอ็นพีแอลในเดือน ต.ค.2556 เพิ่มสูงขึ้น โดยอยู่ที่ 2.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2556 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 2.22% คิดเป็นมูลค่า 266,314 ล้านบาท โดยหนี้เสียส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กลุ่มเอสเอ็มอีมีปัญหาด้านสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินมีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ จึงเห็นเอ็นพีแอลในระบบเพิ่มสูงขึ้นบ้าง

 

ขณะที่ นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารพาณิชย์น่าจะต้องดูแลการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง บวกกับสถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารส่วนใหญ่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ มีส่วนเกินเพียงพอที่จะดูแลสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีได้ เพราะหากเอสเอ็มอีมีปัญหา ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อก็จะมีผลกระทบเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อธนาคารมีความเข้มแข็ง ก็น่าจะดูแลลูกค้าได้

 

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 เอ็นพีแอลรวมของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.22% ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ได้ตั้งสำรองเผื่อเอาไว้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% ของสินเชื่อดีทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 37% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ 33% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอีก 30%

 

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในปี 2557 สศค.จะติดตามสถานการณ์เอ็นพีแอลอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าเศรษฐกิจไทยจะมีผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อระบบการเงิน โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจซึม จะทำให้การบริโภคหรือการลงทุนไม่มี 

 

ผู้ประกอบการขายของไม่ได้ ลูกหนี้ธนาคารก็จะมีปัญหา และกระทบให้เอ็นพีแอลสูงขึ้น หากแนวโน้มเอ็นพีแอลสูงขึ้นเช่นนี้ ก็ต้องรีบเตือน ระวังไม่ควรให้เกิน 5-6% จากที่ผ่านมาเคยต่ำเพียง 1-2% เท่านั้น

 

"แม้ว่าปัจจุบัน สถาบันการเงินจะมีความแข็งแกร่งอยู่ มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) สูงถึง 16.5% แถมมีกำไรสูง ส่วนต่างดอกเบี้ยก็สูง ขณะที่เอ็นพีแอลก็ยังต่ำแค่ 2-3% แต่ต้องดูปัจจัยหลายอย่างประกอบด้วย เช่น ปัญหาการเมือง และถ้าเศรษฐกิจไม่โตตามศักยภาพ ก็อย่าให้ลากยาวเกินไปนัก" นายสมชัย กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ในการดูแลเศรษฐกิจปี 2557 นอกจากการเบิกจ่ายภาครัฐแล้ว จะต้องใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการอัดฉีดเม็ดเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจในยามที่รัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการใหม่ ๆ ได้ ซึ่งแม้ว่าแบงก์รัฐบางแห่งจะมีปัญหา แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่สถานะการเงินดี ทั้งนี้ เอ็นพีแอลของแบงก์รัฐในภาพรวมยังอยู่ที่ 4% ในปัจจุบัน

 

ที่มารูปภาพ : ประชาชาติธุรกิจ

 

ขณะที่ปัญหาคุณภาพหนี้ของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีประเด็นกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทั้งยังเจอปัญหากำลังซื้อลดลง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปัญหาคุณภาพหนี้ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในปี 2557 ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อบัตรเครดิต 

"ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เอ็นพีแอลกลุ่มสินเชื่อรายย่อยเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการขยายตัวของสินเชื่อที่เริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ตอนนี้ก็ต้องเฝ้าระวัง แต่ปัญหาหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยมา 1-2 ปีก่อนหน้านี้ หากคุณภาพดีในช่วงที่สินเชื่อชะลอตัว หนี้เสียก็อาจจะปรับลดลงได้ แต่ถ้าคุณภาพแย่ อัตราการเร่งตัวก็จะเพิ่มขึ้นอีก" นายเบญจรงค์ กล่าว 

 

สำหรับการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคปี 2556 เติบโตประมาณ 8% หรือมูลค่า 3.14 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการเติบโตของสินเชื่อบ้าน 9% จาก 1.31 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 เพิ่มเป็น 1.42 ล้านล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อเติบโต 10% จาก 8.21 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 9.06 แสนล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด) เติบโต 4% จาก 7.48 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 7.8 แสนล้านบาท

 

ส่วนมูลค่าหนี้เสียของธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2556 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เฉลี่ย 2.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 1.9% แต่หากพิจารณาด้านมูลค่ารวม กลับเพิ่มขึ้นสูงถึง 21% หรือ 1.18 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากระดับ 5.66 หมื่นล้านบาท เป็น 6.84 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้เสียสินเชื่อบ้าน 2.98 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ถือเป็นระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อ

 

ขณะที่หนี้เสียของสินเชื่อเช่าซื้อรถเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท ขยายตัวขึ้น 42% และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ มูลค่าหนี้เสียอยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านบาท ขยายตัวขึ้น 29% ซึ่งสะท้อนความน่ากังวลมากขึ้น หลังจากเร่งตัวขึ้นมาต่อเนื่องตลอด 2 ปี ทั้งยังสวนทางกับฝั่งสินเชื่อที่ปีนี้ชะลอตัวลง แสดงให้เห็นว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพลงอย่างเห็นได้ชัด

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย ร่วมกับศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี ได้สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 900 แห่ง ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2556 พบว่า การเมืองเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลเพิ่มขึ้นสูงสุด และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากเดือนตุลาคม มีความกังวลเพียง 6% เพิ่มเป็น 13% และ 19% ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2556 ตามลำดับ 

 

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามเอสเอ็มอีต่อสภาวะธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่า SMEs ที่คาดว่าธุรกิจตนเองจะแย่ลง มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7% ในเดือนตุลาคม 2556 เป็น 14% ในเดือนธันวาคม 2556 หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งหากธุรกิจมีมุมมองต่อการดำเนินงานแย่ลง ย่อมส่งผลต่อแผนการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซามาตั้งแต่กลางปี 2556 และหากเหตุการณ์ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปและขยายวงกว้างขึ้น ย่อมส่งผลต่อความกังวลและความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น