ECONOMICS

สถาบันเหล็กฯ คาด สหรัฐฯขึ้นภาษีเหล็ก ทำไทยเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท
POSTED ON 16/03/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามอนุมัติการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม โดยสหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม 10% และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 15 วัน ซึ่งมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวจะใช้บังคับกับทุกประเทศ ยกเว้นแคนาดากับเม็กซิโก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)

 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวเข้ามาว่า สหรัฐฯ อาจจะยกเว้นการขึ้นภาษีให้กับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ บางประเทศด้วย โดยญี่ปุ่นน่าจะเป็น 1 ในประเทศที่ถูกยกเว้น แต่อาจจะต้องเจรจาข้อตกลงบางอย่างร่วมกับผู้นำสหรัฐฯ โดย นางซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า มาตรการขึ้นกำแพงภาษีนี้จะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศนั้น ๆ โดยจะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมเรื่องความสมดุลทางการค้า

 

การประชุมระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และผู้ผลิตส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม เพื่อหารือถึงผลกระทบและการแก้ไขปัญหากรณีที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศภายใต้มาตรา 232 ผู้ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962

 

โดยที่ประชุมประเมินว่า ในระยะสั้น (1-3 เดือนข้างหน้านี้) การส่งออกเหล็กยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะสินค้าเหล็กที่กำลังอยู่ระหว่างการขนส่งไปสหรัฐฯ เนื่องจากราคาเหล็กในสหรัฐได้ปรับตัวไปแล้วร้อยละ 30 แม้เหล็กที่ส่งออกจากประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี แต่ก็ยังแข่งขันได้ เพราะผู้ผลิตสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการปรับตัวและยังไม่สามารถขายเหล็กในราคาที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้นำเข้ายังมีความต้องการสินค้าอยู่ แต่ในระยะยาวอุตสาหกรรมเหล็กไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน เมื่อผู้ผลิตเหล็กสหรัฐฯ ปรับตัวได้ โดยเฉพาะรายการสินค้าท่อเหล็กและเหล็กแผ่นรีดเย็น

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีทางเลือก 2 ทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ คือ (1) ให้โรงงานผู้ผลิตเหล็กและผู้ส่งออกไทย ร่วมกับผู้นำเข้าเหล็กสหรัฐฯ อ้างถึงความเดือดร้อนที่เกิดจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กในรายการนั้น ๆ และ (2) เปิดการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการเก็บภาษีเหล็กจากประเทศไทย แต่ประเด็นหลังนี้เชื่อว่า สหรัฐฯ ต้องขอแลกเปลี่ยน อาจจะเป็นการเปิดตลาดให้กับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ เป็นบางรายการ

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ไทยจะดำเนินการเจรจากับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรการ 232 เป็นรายพิกัดสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการขอยกเว้นเป็นรายพิกัด ภายในวันที่ 19 มี.ค.2561 นี้ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังสามารถใช้เวทีเจรจาในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA) ไทย-สหรัฐ กำหนดจัดในเดือน เม.ย.2561 นี้ เป็นเวทีหารือกับสหรัฐฯ เพื่อยกเว้นได้ โดยสหรัฐฯ เปิดช่องสำหรับประเทศที่มี security relationship ในการหารือเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว

 

ด้าน นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยกังวลและมีความเป็นห่วงก็คือ หลังจากมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก อาจจะมีเหล็กกลุ่มหนึ่งที่เคยส่งเข้าไปตลาดสหรัฐฯ ไหลเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น โดยประเทศผู้ส่งออกเหล็กไปต่างประเทศสูงสุดในแถบเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศไทยมูลค่าการส่งออกน้อยมาก ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง แม้ว่าประเทศดังกล่าวจะไม่ส่งออกสินค้าเหล็กเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากนักก็ตาม

 

ล่าสุด สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้ระบุไว้ในรายงานผลกระทบจากมาตรา 232 ของสหรัฐฯ ที่มีต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทยว่า มีกลุ่มสินค้าหลักของ 8 ประเทศผู้ส่งออกเหล็กเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นแล้วมีความเสี่ยงที่จะส่งเหล็กรายการเหล่านี้เข้ามายังประเทศไทยแทน ได้แก่ เหล็กเส้น, เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี, เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เนื่องจากเหล็กรายการเหล่านี้ประเทศไทยไม่มีการใช้มาตรการทางการค้า (AD-saveguard) ปกป้องตลาดภายใน

 

โดยสถาบันเหล็กฯ ประเมินว่า ผลกระทบทางตรงจากการขึ้นภาษี ประเทศไทยจะสูญเสียการส่งออกเหล็กไปตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 383,496 ตัน มูลค่า 10,479 ล้านบาท ส่วนผลกระทบทางอ้อมกรณีเหล็กที่เข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ไม่ได้ล้นตลาด และอาจจะทะลักเข้ามายังอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย ในส่วนนี้จะมีเหล็กล้นตลาดอยู่ประมาณ 27.03 ล้านตัน

 

ขณะที่ นายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองประธานกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินราคาเหล็กได้ในขณะนี้ หลังจากที่ไทยถูกเก็บภาษีนำเข้า เนื่องจากในช่วงเดือน พ.ย.2560 ถึง มี.ค.2561 จีนหยุดการผลิตไป ทำให้มีการอั้นปริมาณเหล็กจำนวนมาก และในเดือน เม.ย.2561 การผลิตเหล็กในจีนจะเริ่มกลับมา ทำให้ปริมาณเหล็กล้นจนต้องส่งออกทะลักเข้ามาไทยแน่นอน คาดการณ์ประมาณ 100 ล้านตัน ส่งผลต่อการดัมพ์ราคาที่จะลดลง แต่ประเมินไม่ได้ว่าจะมากขนาดไหน

 

นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมการค้าเหล็กลวดไทย กล่าวว่า การเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอยกเว้นการเก็บภาษีจะอยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ (1) ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่เคยร่วมปกป้องความมั่นคงร่วมกับสหรัฐฯ ในสมัยสงครามเวียดนาม กับ (2) ไทยเป็นธุรกิจที่ยังสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทของสหรัฐฯ อยู่

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ