ECONOMICS

บีโอไอ เร่งหนุนสิทธิและมาตรการดึงลงทุน EEC
POSTED ON 24/09/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานเสวนา "อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก" ในหัวข้อ "เสวนาเชิงนโยบาย 6 เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ" ว่า การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนของบีโอไอเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น บีโอไอได้ให้การส่งเสริมกิจการในหลากหลายประเภท ซึ่งการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC ก็จะได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เป็นเวลา 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ แต่มีเงื่อนไขที่จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม บีโอไอก็อาจจะออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทดแทนมาตรการเดิม ซึ่งคาดว่าใน 4-5 ปีข้างหน้า จะมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้นกว่า 25% จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการลงทุนโดยเฉลี่ย 1 ใน 4 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอในพื้นที่ EEC

 

“เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยบีโอไอสามารถขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 13 ปี ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 นอกจากนี้ พ.ร.บ.ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยได้มีการกำหนดนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงจะมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย” นางสาวดวงใจ กล่าว

 

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีฐานอุตสาหกรรมอยู่ 2 ฐานในพื้นที่ EEC คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนฯ และปิโตรเคมี ซึ่งสามารถต่อยอดไปยัง S-Curve ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระแสความต้องการของกลุ่มนักลงทุนทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และจีน โดยขณะนี้มีพื้นที่รองรับการลงทุนใน EEC ประมาณ 50,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่พร้อมใช้งานได้ในทันทีราว 12,000 ไร่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 12,000 ไร่ รวมถึงเป็นเขต สวน และนิคมอุตสาหกรรม อีกประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งเหลืออีกประมาณ 16,000 ไร่ ที่จะต้องดำเนินการจัดตั้งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยขณะนี้ใน 16,000 ไร่ มีผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนแล้ว 6,000 ไร่  ทำให้เหลือจำนวน 10,000 ไร่ ที่จะต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งต่อไป

 

ขณะที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือน้ำลึก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ก็จะต้องมีการพัฒนาในระยะที่ 3 ที่จะใช้พื้นที่ราว 1,000 ร่ ใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการดำเนินงานค่อนข้างเร็ว ซึ่งมีการออกแบบในเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังเร่งขอรายงานรูปแบบการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) คาดว่าต้นปี 2561 จะสามารถเดินสู่กระบวนการ PPP ได้ และพร้อมที่จะประกาศผู้ชนะประมูลได้ในช่วงกลางปีหน้า

 

ส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Heart ที่มาบตาพุด ที่จะใช้พื้นที่แปลงสุดท้าย 1,400 ไร่นั้น กนอ.ตั้งใจที่จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ครบถ้วน ทั้งดูแลสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสีเขียว การดูแลความปลอดภัยในเรื่องของการจราจรและนิคมฯ ทั้งหมด เพื่อให้เป็นนิคมต้นแบบในการก้าวไปสู่ 4.0

 

ขณะที่ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม รักษาในตำแหน่งผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ทางการรถไฟฯ ได้ศึกษาส่วนต่อขยายจากแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไท-สนามบินดอนเมือง และศึกษารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งนอกจากการเชื่อมรถไฟไปยัง 3 สนามบินแล้ว ก็จะมีการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูของการรถไฟฯ และในส่วนที่จะมีการพัฒนาร่วมกันกับพื้นที่ EEC ก็จะนำเอาพื้นที่บางส่วนทำเป็น EEC เขต 1 ซึ่งจะมีทั้งศูนย์ประชุม และศูนย์การค้า

 

สำหรับความเร็วในการเดินทาง ช่วงสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ ถือว่าเป็นช่วงของเขตเมือง จึงกำหนดความเร็วไว้ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อออกจากเขตเมืองแล้วจะใช้ความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ค่าโดยสารในส่วนของ City Line คิดค่าบริการที่ 2 บาทต่อกิโลเมตร และมีค่าแรกเข้าประมาณ 13 บาท ส่วน High-speed จะอยู่ที่ 1.80 บาทต่อกิโลเมตร คิดค่าแรกเข้า 20 บาท

 

ทั้งนี้ คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งการให้บริการในเขตเมือง (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) นั้น คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 103,920 คนต่อเที่ยวต่อวัน และระหว่างเมือง (สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา) และสถานีบริการ ซึ่งได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ศรีราชา-พัทยา-ระยอง จะมีผู้ใช้บริการราว 65,630 คนต่อเที่ยวต่อวัน โดยจำนวนรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 169,550 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 362,410 คนต่อเที่ยวต่อวัน ในปี 2615 หรืออีก 55 ปีข้างหน้า

 

สำหรับโครงการการพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 3 แห่ง ใน 10 โครงการ ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2561-2570) แบ่งเป็น  3 ระยะ โดยระยะแรกจะดำเนินการเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ ซึ่งจะดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร โครงการเดินรถไฟขนสินค้าไทย-กัมพูชา โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร และโครงการเชื่อมสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ฉะเชิงเทรา

 

ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่จะมีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-ระยอง ระยะทาง 79 กิโลเมตร และช่วงระยอง-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางเดี่ยว ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร และการดำเนินงานในระยะที่ 3 เป็นการก่อสร้างเชื่อมโยงกับภูมิภาค จะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 188 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ ระยะทาง 174 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงท่าแฉลบ-พานทอง ระยะทาง 120 กิโลเมตร โครงการไอซีดี หนองปลาดุก

 

พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า การดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในส่วนของกองทัพเรือรับผิดชอบ เพื่อประสานงานกับคณะกรรมการนโนบาย EEC โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และได้มีการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับทราบถึงข้อดี ข้อเสียของโครงการฯ

 

ในระยะถัดไปก็จะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน โดยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันก็อยู่ระหว่างวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในกลางปี 2561 อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการของสนามบินอู่ตะเภาขณะนี้ได้มีการทยอยเปิดไปทีละเฟส ซึ่งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า ก็มีการเปิดไปแล้วประมาณ 6 เดือน และปีนี้จะทยอยเปิดในส่วนของผู้โดยสารขาออก

 

"เรากำลังสร้างแรงจูงใจมากขึ้น โดยในระยะที่ 2 พื้นที่ราว 1,500 ไร่ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 30 ล้านคน จากระยะแรกอยู่ที่ 15 ล้านคน และระยะถัดไปจะอยู่ที่ 60 ล้านคน ซึ่งจะใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิ หากเรามีการดำเนินการได้ดี สนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นสนามบินกรุงเทพฯ ในที่สุด และจะมีการเชื่อมโยงด้วยรถไฟความเร็วสูงที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง" พลเรือตรีวรพล กล่าว