ECONOMICS

ก.อุตฯตั้งคณะทำงานร่วมเยอรมัน ขับเคลื่อนอินดัสทรี 4.0
POSTED ON 22/05/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมอุตสาหกรรม 4.0 สู่ประเทศไทย 4.0 : หุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมันเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมในอนาคต ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานหุ้นส่วนความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยแนวทางดำเนินงานจะอยู่ภายใต้กลไกประชารัฐที่เป็นความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชน

 

สำหรับแนวทางที่สำคัญของความร่วมมือ อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีที่จะทำอย่างไรให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเยอรมนีถือว่าเป็นต้นแบบในเรื่องนี้ และครั้งนี้ผู้บริหารจาก บริษัท บ๊อช (Bosch) และ ซีเมนส์ (Siemens) ยืนยันที่จะร่วมมือกับไทยด้วย

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะมีการจัดตั้งคณะทำงานหุ้นส่วนไทย-เยอรมัน การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 4.0 สู่เพื่อนบ้านในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการค้าขายติดกับประเทศไทย เนื่องจากมีจุดเด่นในด้านการเชื่อมโยงห่วงโซ่การค้าระหว่างกัน และเยอรมนีเองก็มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีในการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเยอรมนีในไทยกว่า 600 บริษัท และคาดว่าหลังจากนี้จะมีบริษัทจากเยอรมนีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

 

นายมาร์คุต ลอเรนซินี่ ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ได้พูดถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยที่เป็นหัวใจสำคัญในการรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมองว่าไทยต้องการการพัฒนาด้านการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมให้แก่พนักงานของบริษัท โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งเยอรมันมีแผนช่วยประเทศไทยด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาบุคลากรขึ้นมา ส่วนสิ่งที่เยอรมันจะได้จากความร่วมมือในครั้งนี้ ก็คือ การใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายการค้าและการลงทุน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ศูนย์กลางอาเซียน ทำให้สามารถกระจายไปสู่ตลาดโลกได้

 

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นไทยจะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากธุรกิจของเยอรมันที่ถือเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม 4.0 นำไปสู่การฝึกอบรมให้กับเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลไทยต้องการ ยกระดับ ส่วนความร่วมมือก็มอบให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ฯลฯ ไปหารือในรายละเอียดถึงความร่วมมือดังกล่าว