ECONOMICS

อัดงบกว่า 4 แสนล้านบาท หนุนไทยสู่ฮับอุตฯอากาศยาน
POSTED ON 10/03/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อยู่ 3 แห่ง คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาที่กำลังจะมีการขยายศูนย์ซ่อมอากาศยานโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท การบินไทย กับ บริษัท แอร์บัส เพื่อลงทุนสร้าง MRO บนพื้นที่ขนาด 600 ไร่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2563 โดยศูนย์แห่งนี้จะใหญ่กว่าศูนย์ MRO ที่สนามบินซางฮี ประเทศสิงคโปร์ โดยจะเป็นศูนย์ซ่อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และทันสมัยที่สุดในเอเชีย

 

“ส่วนการส่งเสริมการลงทุนชิ้นส่วนอากาศยานนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ลงทุนในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานทั้งสิ้น 22 บริษัท มีการขอส่งเสริมการลงทุน 8,561 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจว่าจะผ่อนปรนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เพราะหากมีรายใหญ่มาลงทุนก็จะเกิดการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐานใหม่ของการบินมากขึ้น โดยขณะนี้ได้เตรียมที่จะดึงบริษัทชั้นนำของโลกอย่างโรสรอยซ์ และ แพท แอนด์ วิสนี่ เข้ามาลงทุน” นายกอบศักดิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งลำ จากเดิมต้องมีคนไทยถือหุ้นในบริษัท 51% ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุน ดังนั้น อาจจะมีการยกเว้นเรื่องกฎหมายให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานไม่ต้องมีสัญชาติไทย 51% ของทุนทั้งหมด และอำนาจในการบริหารจัดการไม่ต้องอยู่ในมือของคนสัญชาติไทย เพื่อให้มีการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวในไทยมากขึ้น

 

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอากาศยานของภูมิภาค ทั้งด้านการขนส่ง และการซ่อม-สร้างชิ้นส่วนอากาศยาน โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบและบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

 

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ไป ทางรัฐบาลมีแผนลงทุนพัฒนาสนามบินรวมกว่า 4.06 แสนล้านบาท โดยใช้ทั้งงบประมาณรัฐและเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในกรอบ PPP