ECONOMICS

พาณิชย์ ยัน ไทยได้รับผลกระทบน้อยมากจากการที่ญี่ปุ่นตัดสิทธิ์ GSP
POSTED ON 25/04/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวสร้างความตระหนกให้แก่ผู้ประกอบการไทยเรื่องญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย จะกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บางส่วน เนื่องจากขณะนี้ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และ อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งเปิดการค้าเสรีระหว่างกันประมาณ 10 ปีมาแล้ว ครอบคลุมสินค้ากว่า 6,000 รายการ

 

การส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปญี่ปุ่นซึ่งใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี JTEPA และ AJCEP มีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.06 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่การส่งออกภายใต้สิทธิ GSP มีการใช้สิทธิเพียง 14 รายการ มูลค่าประมาณ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 540 ล้านบาท เท่านั้น

 

สาเหตุที่มีการใช้สิทธิ GSP น้อย เพราะผู้ส่งออกหันไปใช้สิทธิพิเศษในเขตการค้าเสรี JTEPA และ AJCEP ซึ่งลดภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า GSP ดังนั้น หากญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ไทยก็จะมีสินค้าเพียง 6 รายการเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งได้แก่ ซอร์บิทอล (สารให้ความหวาน) กาแฟคั่วที่แยกคาเฟอีนออกแล้ว เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปรสภาพอื่น ๆ ไม้พลายวู๊ดอื่น ๆ ไม้ลามิเนต และไม้บล็อกบอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการทยอยลดภาษีภายใต้กรอบความตกลง JTEPA และ AJCEP จนมีสิทธิพิเศษเท่ากับที่เคยได้รับสิทธิ GSP-ญี่ปุ่น คงเหลือแต่สินค้าซอร์บิทอล (สารให้ความหวาน) เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ JTEPA และ AJCEP

 

ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจการค้าได้เปลี่ยนแปลงไป ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ให้สิทธิ GSP จึงได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาตัดสิทธิ GSP กับประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Country) ระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2556-2558 และมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลกมีสัดส่วนมากกว่า 1% ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

 

แต่ในระหว่างปี 2556-2558 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปทั่วโลกมีสัดส่วน 1.21%, 1.20% และ 1.29% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่พัฒนาและมีความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ที่เคยให้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

 

นางอภิรดี ระบุว่า "กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าและผลักดันเพื่อนำสินค้าทั้ง 6 รายการดังกล่าวเข้าไว้ในกลุ่มสินค้าที่จะเจรจาทบทวนใหม่ในรอบการทบทวนทั่วไป (General Review) ภายใต้ความตกลง JTEPA กับญี่ปุ่นในปี 2560 นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการปรับเกณฑ์การตัดสิทธิ GSP ของญี่ปุ่น"