ECONOMICS

อุตฯ ชง ครม.ตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีวงเงิน 20,000 ล้านบาท
POSTED ON 17/01/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักร, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางการบูรณาการการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ร่วมกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่า ได้ให้นโยบายสำคัญ 2 เรื่อง คือ (1) ให้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นความสำคัญของกลุ่มจังหวัดในอนาคตที่จะมีทั้งการอัดฉีดงบประมาณ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยพัฒนาจากกลุ่มจังหวัดมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์กลางประจำแต่ละจังหวัดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ เอสเอ็มอีอย่างบูรณาการมากขึ้น

 

(2) กระทรวงการคลังเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนา ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างเอสเอ็มอีครั้งใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นการให้เฉพาะสินเชื่อ แต่ต้องการให้เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเต็มพื้นที่ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ยังมีความตื่นตัวในการทำธุรกิจ ต้องสนับสนุนให้สามารถกลับไปตั้งต้นเป็นเอสเอ็มอีในภูมิลำเนาได้ โดยเฉพาะอนาคตที่จะไม่เน้นช่วยเหลืออุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่จะดูแลเอสเอ็มอีเกษตร ท่องเที่ยว และบริการ ที่กำลังเติบโตมากขึ้น

 

นายอุตตม เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ม.ค.2560 จะมีการเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากงบกลางปีงบประมาณ 2560 เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยหลังจากผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว คาดว่าโครงสร้างกองทุนฯจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งระหว่างนี้จะต้องมีการหารือร่วมกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อกำหนดมาตรการ เช่น สินเชื่อซอฟต์โลน การร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยจะออกมาเป็นแพ็กเกจพร้อมกันทั้งหมด

 

ทั้งนี้ กองทุนจะดูแลผู้ประ กอบการ 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มเริ่ม ทำธุรกิจใหม่ แต่มีเงินลงทุนไม่พอ (2) กลุ่มธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำ หรับยกเครื่องหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ และ (3) กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพแต่มีปัญหา

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งทีมงานศึกษาพื้นที่เป้าหมาย สินค้าและบริการที่มีศักยภาพนำร่องแนวทางพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นไทย (Local Economy) ให้แล้วเสร็จนำกลับมาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการแนวทางบูรณาการฯอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า