ECONOMICS

อุตฯเอส-เคิร์ฟเติบโตต่อเนื่อง 2 ปีลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท
POSTED ON 03/05/2559


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม 3 พ.ค.2559 - นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า สถิติการจดประกอบกิจการและการขยายโรงงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557 ถึง 26 เม.ย.2559 นั้น ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็น 1 ในนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ เอส-เคิร์ฟ (S-Curve) นั้น มีการลงทุนรวมกว่า 245,383 ล้านบาท และมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการพิจารณาอนุญาตโรงงานทุกประเภทรวมถึงโรงงานกลุ่มเอส-เคิร์ฟให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมามีการปรับปรุงขั้นตอนการอนุญาตเพื่อลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาต จากเดิม 90 วัน เป็น 30 วัน พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ และมีการนำระบบไอทีในการบริหารจัดการมาอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศกรณีที่มีปัญหาการขออนุญาตต่างๆ

 

“กรอ.ยังให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลภายหลังการอนุญาตเพื่อรักษามาตรฐานการดำเนินการสำหรับการพิจารณาอนุญาตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นและส่งเสริมการจัดตั้งโรงงาน กรอ.จะส่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานเพื่อรับฟังและให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ไขปัญหา เพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการในการขยายโรงงานตาม นโยบายภาครัฐ” นายพสุ กล่าว

 

ด้าน นายพรเทพ ศักดิ์สุจริต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรมาสเตอร์เทค จำกัด ผู้ผลิตระบบเซ็นเซอร์เบรกรถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์ของยุโรป อาทิ โฟล์คสวาเกน วอลโว่ และเบนซ์ เป็นต้น กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตระบบเซ็นเซอร์เบรกรถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์ของยุโรป อาทิ โฟล์คสวาเกน วอลโว่ และเบนซ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ เอส-เคิร์ฟ ของรัฐบาล ระบุว่า ขณะนี้บริษัทฯกำลังประสบปัญหาในด้านต้นทุนการผลิตและขยายการลงทุน จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนกับกิจการที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ แต่ใช้สิทธิหมดแล้ว นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านภาษีที่ดิน เครื่องจักร พ่วงกับสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนใหม่ เพื่อจูงใจให้มีการขยายการลงทุนมากขึ้น และส่งเสริมความแข็งแรงให้กับองค์กรนั้นๆ โดยเรื่องนี้จะเสนอต่อประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาและเสนอไปยังภาครัฐต่อไป

 

“ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันที่ 300 บาทต่อวัน ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ จากเดิมที่ 187 บาทต่อวัน จึงทำให้บริษัทฯได้รับผลกระทบมาโดยตลอด แม้รัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขยายลงทุน หรือลงทุนใหม่ในเอส-เคิร์ฟ ทางบริษัทฯก็ยังเกิดความลังเลและอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะลงทุนในประเทศเวียดนามปี 2560 แทนดีหรือไม่ เพราะต้นทุนค่าแรงต่ำกว่ามาก แต่ยังติดเรื่องวัฒนธรรมการจ้างงานที่หากเป็นคนไทยจะคล่องตัวกว่า” นายพรเทพ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics