ECONOMICS

ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.พ.2559 ร่วงลง 1.62%
POSTED ON 31/03/2559


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม 31 มี.ค.2559 - นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.พ.2559 หดตัว 1.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่กล้าที่จะเริ่มลงทุนมากนัก ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งยังรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออย่างมาก

 

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.11% อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีการผลิตลดลง 12.76% และการบริโภคเหล็กของไทยลดลง 5.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นการไหลเข้าของเหล็กสำเร็จรูปจากจีน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง 0.87% โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง 2.43%

 

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของ MPI ในเดือน ก.พ.2559 เมื่อนำไปเทียบกับเดือน ม.ค.2559 ที่หดตัว 3.5% ถือว่าในเดือน ก.พ.2559 มีการปรับตัวของแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ MPI ทั้งปีจะอยู่ที่ 2.5% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมที่ 2%

 

อัตราของกำลังผลิตมีการยกระดับเพิ่มขึ้นเป็น 65.7 ในรอบ 11 เดือน เนื่องจากในเดือน ก.พ.-มี.ค.2559 จะมีการเร่งผลิตเพื่อกักตุนไว้ขายในเดือน เม.ย.2559 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และคาดว่าหลังจาก เม.ย.2559 ไปแล้ว กำลังการผลิตจะลดลง

 

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.62% โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร โดยมีการเพิ่มขึ้นด้านการผลิตที่ 2.1% และการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% อุตสาหกรรมเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณการผลิตเพิ่มขึ้น 33.07% ซึ่งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกรายการสินค้า ทั้งสร้อย, ต่างหู, แหวน และจี้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก การผลิตเพิ่มขึ้น 11.33% ผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตเพิ่มขึ้น 9.17% และส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้น 3.36% โดยมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในเดือน มี.ค.2559 นี้

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรอย่างมาก ซึ่งทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง โดยกระทบเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน ซึ่งในวันที่ 4 เม.ย.2559 นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จะมีการประชุมเพื่อเตรียมประเมินสถานการณ์ GDP ใหม่ โดยให้ความเห็นว่าอาจจะมีการทรงตัวของค่า GDP ที่ 3-3.5% โดยมีแนวโน้มไปทาง 3% เนื่องจากผลกระทบทางด้านภัยแล้งยังคงรุนแรง ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics