ECONOMICS

เอสเอ็มอีเฮ! รัฐเว้นเอาผิดภาษีย้อนหลัง แนะรีบลงทะเบียนก่อน 15 มี.ค.นี้
POSTED ON 18/01/2559


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม 18 ม.ค.2559 - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบ โดยไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกับกรมสรรพากรจัดอบรมเจ้าหน้าที่สรรพากรทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ให้ตรงกัน จากนั้นจะอบรมเจ้าหน้าที่สภาวิชาชีพบัญชีต่อไป และสุดท้ายจะให้ความรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเข้าระบบ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

 

มาตรการดังกล่าวจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย จากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ราว 400,000 - 500,000 ราย ซึ่งต้องการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบให้มากที่สุด เพราะเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐออกมาตรการนี้มา โดยเงื่อนไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่ตรวจเอาผิดภาษีย้อนหลัง และพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีนิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการนิติบุคคลที่รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ในปี 2558 ต้องมาลงทะเบียนกับกรมสรรพากรตั้งแต่ 15 ม.ค. ถึง 15 มี.ค.2559 นี้ หรือมีเวลา 60 วัน พร้อมกับจดแจ้งการทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีย้อนหลังที่เกิดก่อนวันที่ 1 ม.ค.2559 ทั้งหมด

 

"รัฐยอมเสียรายได้ครั้งนี้เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการควรคว้าไว้ เพราะต่อไปหากเลยกำหนด ผู้ประกอบการจะเสียโอกาสในมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของทางภาครัฐ เพราะส่วนใหญ่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบเท่านั้น" นายสุพันธุ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ นายสุพันธุ์ ยังระบุถึงทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยว่า อยากเสนอให้ภาครัฐนำรายได้ส่วนต่างจากราคาน้ำมันนำมาตั้งเป็นกองทุนดูแลสินค้าเกษตรแทนการปรับลดราคาน้ำมัน ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันปรับลดลงอีกลิตรละ 1 บาท ก็ไม่ต้องปรับราคาลง แต่ให้นำเงินมาใส่ในกองทุนดังกล่าวแทน เนื่องจากการลดราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ประชาชนหันมาบริโภคน้ำมันเกินความจำเป็น ทั้งที่น้ำมันในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า

 

"แม้ตอนนี้กระทรวงพลังงานจะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลราคาน้ำมัน แต่อยากให้ตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลและช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เช่น ยางพารา เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงก็ไม่ได้ช่วยอะไรกับเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้น การนำเงินส่วนต่างที่ต้องปรับขึ้น เทียบกับราคาที่เหมาะสม แล้วนำมาช่วยเหลือเกษตรกรน่าจะดีกว่า เพราะราคาสินค้าเกษตรผูกติดกับราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันลง ราคาสินค้าเกษตรก็จะปรับลดลงด้วย" นายสุพันธุ์ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics