ECONOMICS

หนุน 10 อุตฯเป้าหมาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
POSTED ON 26/11/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า 7 กระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจได้ร่วมกันดำเนินการตามนโยบายระยะยาวเพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทยตามแนวทางที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมนั้นได้เร่งแนะนำและดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ซึ่งได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) (2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) (3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) (4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) (5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

 

ส่วนที่ 2 เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีผู้สนใจลงทุน ถือเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต (New-S-Curve) ซึ่งได้แก่ (6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) (7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) (8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) (9) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และ (10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

 

โดยแนวทางพัฒนาระยะสั้น-ปานกลาง จะยกระดับอุตสาหกรรมเดิม 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น First S-Curve เพื่อต่อยอดการเจริญเติบโต ส่วนในระยะยาวจะพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New-S-Curve) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมอนาคตนั้นจะกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนดังนี้ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก, อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน จะใช้พื้นที่สนามบินพัทยา-อู่ตะเภา, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร จะใช้พื้นที่วิจัยและพัฒนาให้อยู่ในโรงเรียนแพทย์ คลัสเตอร์การแพทย์ เช่น กรุงเทพฯ หรือพัทยา จ.ชลบุรี เป็นต้น, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ จะใช้พื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่อยู่ในบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง และอุตสาหกรรมดิจิทัล จะใช้พื้นที่ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เป็นต้น

 

ปัจจุบัน 6 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง First S-Curve และ New-S-Curve ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ คือ ยานยนต์แห่งอนาคตอยู่ในพื้นที่ชลบุรีและศรีราชา, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอยู่ในสมุทรปราการ ชลบุรี ศรีราชา, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพอยู่ที่พัทยา ระยอง, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อยู่ในชลบุรี ศรีราชา, อุตสาหกรรมการบิน อยู่ที่อู่ตะเภา สัตหีบ และอุตสาหกรรมไบโอเคมี อยู่ที่มาบตาพุด

 

ทั้งนี้ จากความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานในอดีต รัฐบาลจึงจะนำเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกมาเป็นตัวจุดประกายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 อุตสาหกรรม

 

ปัจจัยความสำเร็จในการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกนั้นจะต้องมีกลไกการกำกับดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำหน้าที่กำหนดแผนการลงทุน กำหนด ผู้ลงทุนรายสำคัญ (2) คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีหน้าที่เจรจากับผู้ลงทุนรายสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทั่วไปและสิทธิประโยชน์พิเศษ (3) คณะกรรมการกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ทำหน้าที่อนุมัติแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการการลงทุนคลัสเตอร์ โครงสร้างพื้นฐาน และบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ และติดตามความคืบหน้าในการติดต่อและชักจูงนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายและเป็นเลขานุการให้คณะกรรมการระดับชาติ

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า "มั่นใจว่าการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบคลัสเตอร์จะเกิดขึ้นได้แน่นอน จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง อาทิ มาตรการทางภาษีของบีโอไอ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติม 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และมาตรการทางการคลังที่อยู่ระหว่างพิจารณาให้กิจการเพื่ออนาคตยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี และจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 0-15%"

 

"สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ รวมถึงกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท และอื่นๆ ถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนที่มองว่าสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ยังไม่พอ อาจมีแค่บางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งไม่อยากให้เอาไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์และค่าแรงควรมองว่าไทยเองมีความพร้อมและเหนือกว่าคู่แข่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และโลจิสติกส์" นายสุพันธุ์ กล่าว

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า "กลุ่มยานยนต์เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ถูกผลักดันให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ และยกระดับสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ มั่นใจว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และทุกๆ มาตรการส่งเสริมที่ออกมาจะเป็นส่วนสำคัญให้นักลงทุนรายเก่าที่ลงทุนอยู่แล้วไม่ย้ายฐานการผลิตไปไหน แต่จะทำการวิจัยเพิ่มเพื่อต่อยอดพัฒนาสินค้ารองรับการขยายธุรกิจแทน นอกจากนี้ นักลงทุนรายใหม่ จะหันกลับมาพิจารณาลงทุนในไทยมากขึ้น จากเดิมที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงถูก แต่ไม่เอื้อในเรื่องความพร้อมอื่นๆ"

 

"ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ทำให้ ผู้ประกอบการในกลุ่มยานยนต์กระปรี้กระเปร่าขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กๆ ในท้องถิ่นสอบถามเข้ามามาก ปัจจุบัน กลุ่มยานยนต์มีภาคการผลิตที่เป็นคลัสเตอร์กันอยู่แล้ว และส่วนใหญ่กระจายตั้งโรงงานอยู่ในภาคตะวันออก ทั้งชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มองเห็นศักยภาพของพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ว่าน่าจะพัฒนาเป็นเมืองคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนฯได้" นายสุรพงษ์ กล่าว

 

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า "ครม.มีมติเมื่อ 24 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของประเทศให้เติบโตได้ในอีก 10 ปีข้างหน้าและอนาคตมูลค่า 10,000 ล้านบาท จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบของการเข้าไปอุดหนุนด้านต่างๆ อาทิ ช่วยเหลือเรื่องการจ่ายภาษี เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิของบีโอไอ เชื่อว่าเพียงพอจะดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในไทยได้เมื่อเทียบกับคู่แข่ง"

 

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการ แต่ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียด ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง 1-2 สัปดาห์นี้ สำหรับกลไกการทำงานของกองทุนจะมีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ (1) คณะกรรมการที่ไปเจรจาหรือไปค้นหาบริษัทที่ต้องการให้มาลงทุนในไทย ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ (2) คณะกรรมการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics