ECONOMICS

เอกชนวอนรัฐให้สิทธินิคมอุตฯเทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ
POSTED ON 05/10/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นสพ.ไทยโพสต์ รายงานข่าวในวันนี้ (5 ต.ค.2558) ว่า นางอัญชลี ชวนิตย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรม นำคณะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมและพันธมิตร เข้าพบ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอให้กระทรวงฯช่วยพิจารณาหามาตรการส่งเสริมเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมที่มีอยู่จำนวน 84 แห่ง บนพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ทั่วประเทศ รวมทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ด้วย เช่นเดียวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

รวมทั้งขอให้พิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการนิคมและเขตอุตสาหกรรม กรณีร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะมาแทน พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมให้ภาคเอกชนบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจึงมีความกังวลเรื่องของทิศทางในอนาคตของนิคมและเขตอุตสาหกรรมว่าจะเป็นอย่างไรหลังร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2559

 

นางอัญชลี กล่าวว่า สมาคมฯได้ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการศึกษาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ และการก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในนิคมและเขตอุตสาหกรรม ที่แต่เดิมจะศึกษาเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี 2556 มีนิคมและเขตอุตสาหกรรมถึง 84 แห่ง บนพื้นที่ 2 แสนไร่ มีโรงงาน 5,000 กว่าโรงงาน และมีเงินลงทุนมูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาท สามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มถึง 10% ของจีดีพีในประเทศ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่านิคมและเขตอุตสาหกรรมยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือในอนาคต

 

"นโยบายการส่งเสริมการลงทุน 6 กลุ่มคลัสเตอร์ ที่ออกมาใหม่เมื่อต้นปี ได้ให้สิทธิประโยชน์เรื่องของภาษีเงินได้ ดังนั้น เอกชนจึงต้องการเช่นเดียวกัน เพราะจริงๆ แล้วก็เป็นการลงทุนเช่นกัน แต่อยู่ในรูปแบบของระบบสาธารณูปโภค ไม่ใช่เป็นเพียงผู้จัดสรรที่ดินเท่านั้น แต่เป็นคนที่สร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก" นางอัญชลี กล่าว

 

ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า ในเรื่องสิทธิประโยชน์นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มเติม ขณะที่เรื่อง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

 

ขณะที่ทางด้านแหล่งข่าวจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ระบุว่า การส่งเสริมคลัสเตอร์ไม่ควรจำกัดแค่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการได้วางแผนล่วงหน้าแล้วว่า จะลงทุนอุตสาหกรรมแบบใดและพื้นที่ใดที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นภาครัฐควรจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อนที่จะออกนโยบายส่งเสริม เช่น การสร้างระบบประปา ไฟฟ้า ถนน เป็นต้น ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการจะให้เกิดขึ้นเร็วควรจะสนับสนุนและพัฒนาเขตการค้าชายแดน เพราะมีการค้าการอุตสาหกรรมแล้ว จึงไม่ยากที่จะพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics