ECONOMICS

บีโอไอ เร่งแผนกระตุ้นลงทุนรอบ 2 อัดสิทธิประโยชน์เพียบ
POSTED ON 27/10/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย.2558 นี้ บีโอไอจะออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บีโอไอได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุนสำหรับโครงการที่เริ่มก่อสร้างจริงภายในปี 2560 ไปแล้ว

 

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับนักลงทุนในมาตรการกระตุ้นการลงทุนครั้งใหม่ยังคงใช้ภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญอยู่ ตัวอย่างเช่น กลุ่มประเภทกิจการทั่วไปที่ตั้งในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมเป็นเวลา 3 ปี หรือ +3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี และหากเป็นกิจการในกลุ่ม A1 หรือ A2 ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีอยู่แล้ว ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตรา 50% ของอัตราปกติเป็นเวลา 5 ปีนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ขณะที่กลุ่มประเภทกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตรา 50% ของอัตราปกติเป็นเวลา 5 ปีนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ปัจจุบันบีโอไอยังเหลือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาเพื่อออกเป็นมาตรการกระตุ้นการลงทุนได้ อาทิ การอนุญาตหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาเป็น 2 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ หรือการอนุญาตให้หักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 25% ของเงินลงทุน นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นเวลา 5 ปี การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามแนวทางที่บีโอไอกำหนด และการให้สิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เป็นต้น

 

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนในปี 2558-2559 (กิจการอื่นๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ +2 ปี หากได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปีอยู่แล้วให้ได้รับการลดหย่อนภาษี 50% ในปีที่ 9-13 เพิ่มเติม ส่วนกิจการทั่วไปจะ +1 ปี) ที่กำหนดให้มีผลครอบคลุมโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 จนถึงสิ้นปี 2559 และต้องดำเนินการผลิตหรือให้บริการจริงภายในสิ้นปี 2560 นั้น ในขณะนี้กำลังรอเข้า ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบ บวกกับมาตรการด้านภาษีของกระทรวงการคลัง คาดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์จะได้รับการพิจารณาจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

 

บีโอไอเชื่อว่า หากมาตรการเร่งรัดการลงทุนผ่านการพิจารณาของ ครม. จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาก่อนปี 2560 ประมาณ 100,000 ล้านบาท จากการประเมินยอดอนุมัติที่ออกบัตรส่งเสริมไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและเล็ก เพราะมีข้อจำกัดของระยะเวลาในการลงทุนคือ 1-2 ปีเท่านั้น ดังนั้น โครงการขนาดเล็กจึงเริ่มก่อสร้างได้ง่ายและเร็วกว่า โดยไม่จำเป็นว่าโครงการเหล่านี้จะต้องอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถิติประเภทการลงทุนในประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมให้บริการ สาธารณูปโภค โรงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 7 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่มักจะเป็นโครงการลงทุนของนักลงทุนไทย 100% ถัดมาจะเป็นโครงการร่วมทุน แตกต่างจากในอดีตที่จะเป็นการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติล้วน ๆ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics