ECONOMICS

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯส.ค.2558 ดิ่งต่ำสุดในรอบ 75 เดือน
POSTED ON 21/09/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ส.ค.2558 ว่า อยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.0 ในเดือน ก.ค.2558 ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และเป็นค่าดัชนีอุตฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 75 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 จากความกังวลต่อภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ การหดตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้การใช้จ่ายจึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ ในการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและภาคเกษตร ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภค และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เชื่อว่าผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย.2558 น่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยน ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ที่นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก พบว่า ในเดือน ส.ค.2558 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ อยู่ที่ระดับ 80.8 ปรับตัวลดลงจาก 81.7 ในเดือน ก.ค.2558 อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

 

ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ อยู่ที่ระดับ 89.8 ลดลงจากระดับ 90.2 ในเดือน ก.ค.2558 โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีอุตฯลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น

 

นายสุพันธ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค.2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

 

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% มองว่าจะไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากถึง  10% ทำให้การแข็งค่าระดับนี้เป็นระดับที่ยังสามารถแข่งขันได้ เพราะค่าเงินเป็นไปตามทิศทางของภูมิภาค โดยประเมินว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในเดือน ส.ค.2558 ซึ่งได้แก่ การเร่งออกมาตรการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัสดุและปัจจัยการผลิต เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการใช้ซอฟต์แวร์ทางบัญชีที่ได้มาตรฐานและมีการฝึกอบรมการใช้อย่างถูกต้อง รวมถึงจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง และสนับสนุนการขยายฐานส่งออกสินค้าเอสเอ็มอีและให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics