ECONOMICS

สศอ.ลุยแผนจัดโซนนิ่งและเมืองศูนย์กลางอุตฯ รับเออีซี
POSTED ON 14/09/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.เตรียมผลักดันนโยบายขับเคลื่อนแผนการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม (โซนนิ่ง) รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค และแผนยุทธศาสตร์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางที่มีความชำนาญด้านอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค ต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติและ ครม.พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและแปลงแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และก่อให้เกิดการกระจายอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้กรอบ AEC และผลักดันนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกัน

 

ตามแผนฯ ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภูมิภาคที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการพัฒนา และได้กำหนดเป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสอดคล้องมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือที่ อ.เมือง จ.พะเยา และภาคอีสานที่ อ.เมือง จ.ยโสธร ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดนี้มีชื่อเสียงดีในเรื่องการผลิตข้าว

 

พร้อมกันนี้จะนำเสนอยุทธศาสตร์การกระจายอุตสาหกรรมสู่เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค อาทิ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ และเมืองบริวาร (ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน และเชียงราย) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในจังหวัด 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรจากข้าวและลำไย (2) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารผักและผลไม้กระป๋อง (3) อุตสาหกรรมเซรามิก (4) อุตสาหกรรมแปรรูปไม้และเครื่องเรือน และ (5) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

 

ภาคกลางที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร (สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในจังหวัด ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร(โรงสีข้าว) (2) อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส (3) อุตสาหกรรมพลาสติก (4) อุตสาหกรรมแปรรูปไม้และเครื่องเรือน และ (5) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

 

อีกทั้งผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมไปพร้อมกันด้วย ทั้งในด้านการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และสร้างความเชื่อมโยงกับภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน (AEC) การพัฒนาพื้นที่เมืองศูนย์กลางและเมืองบริวารเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพัฒนาอุตสาหกรรมของเมืองศูนย์กลางให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรม จะก่อให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์ในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาในรูปแบของคลัสเตอร์เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ โดยให้กลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดการรวมตัว มีความร่วมมือ เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร (Commonality and Complementary) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยความเชื่อมโยงในแนวตั้ง (Vertical Linkage) เป็นความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

 

ส่วนความเชื่อมโยงในแนวนอน (Horizontal Linkage) เป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านต่างๆ รวมทั้งธุรกิจให้บริการ สมาคมการค้า สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม สถาบันวิจัยพัฒนา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาที่ก่อให้เกิดพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่เป็นพื้นที่เฉพาะเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาค

 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics