ECONOMICS

กกร.หั่นเป้าส่งออกปีนี้ จากติดลบ 2% เป็น -4%
POSTED ON 08/09/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการณ์การส่งออกและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ใหม่ในปีนี้ใหม่อีกครั้ง โดยเบื้องต้นส่งออกคาดว่าจะติดลบ 4% จากเดิมตั้งเป้าว่าจะติดลบ 2% เท่านั้น และจีดีพีจะโตต่ำกว่า 3% จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 3.5%

 

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า "การปรับเป้าตัวเลขดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากตัวเลขส่งออก 7เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2558) ที่ล่าสุดติดลบ 4.66% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะจีนก็ยังคงชะลอตัวทำให้ตลาดส่งออกหลักๆ ยังคงไม่ดีขึ้น และยังมีปัญหาค่าเงินหยวน ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้จะต้องมาประเมินแนวโน้มอีกครั้ง เมื่อจีนลดค่าเงินหยวน ส่วนสหรัฐฯที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น"

 

"สำหรับการลงทุนในประเทศไทย ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้นักลงทุนทั่วโลกย่อมต้องชะลอการขยายการลงทุนออกไปด้วยเช่นกัน เพื่อรอประเมินความชัดเจนก่อน ดังนั้น หากรัฐบาลจะเร่งให้เกิดการลงทุน ก็ควรจะมีการปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่จูงใจด้านภาษีฯมากขึ้นในบางอุตสาหกรรม จากที่ถูกตัดลดลงไปตามยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ" นายวัลลภ กล่าว

 

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า "ขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของจีดีพีของประเทศมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะล่าสุดที่กระทรวงการคลังเตรียมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงการขนาดเล็ก 130,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนในระยะยาวรัฐบาลต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง และส่งเสริมดิจิตอลอีโคโนมิอย่างต่อเนื่อง"

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร และการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ภาคเอกชนต้องการเห็นความคืบหน้าจากภาครัฐในการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อินเดีย ไทย-ปากีสถาน และ ไทย-ตุรกี รวมถึงการผลักดันการค้าชายแดนให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่วนการส่งออกในขณะนี้คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวสักระยะ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศด้วย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics