ECONOMICS

กนอ.เชื่อ ยอดขาย-เช่านิคมฯ ปีนี้ถึง 4,000 ไร่
POSTED ON 06/03/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า ในปี 2558 ตั้งเป้ายอดขายและให้เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศประมาณ 4,000 ไร่ จากพื้นที่คงเหลือสำหรับขายและให้เช่า 14,333 ไร่ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557-ม.ค.2558) มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 730 ไร่ จากนิคมฯร่วมดำเนินงาน ซึ่งเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามียอดขายลดลง 85 ไร่ โดยแบ่งเป็น...

 

● นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มอมตะ จำนวน 225 ไร่

● นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มเหมราช จำนวน 142 ไร

● นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จ.สมุทรปราการ จำนวน 121 ไร่

● นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล 1996 จำนวน 80 ไร่

● นิคมอุตสาหกรรมหนองแค จำนวน 74 ไร่

● นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 47 ไร่

● นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จำนวน 37 ไร่

● นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จำนวน 4 ไร่

 

สำหรับยอดขายและให้เช่าพื้นที่ในปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.2556-ก.ย.2557) อยู่ที่ 3,541 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 11 นิคมฯ มียอดขายและให้เช้าพื้นที่ 98 ไร่ และนิคมฯ ร่วมดำเนินงานกับเอกชนที่เปิดดำเนินการแล้ว 29 นิคมฯ มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 3,443 ไร่

 

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2558 กนอ.ได้มีการลงนามจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง รวมพื้นที่ 5,564 ไร่ มูลค่าการลงทุน 185,178 ล้านบาท ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเชียงของ จ.เชียงราย พื้นที่ประมาณ 462 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิรฺ์นซีบอร์ด (โครงการ 4) จ.ระยอง พื้นที่ 2,142 ไร่ และ นิคมอุตสาหกรรมหนองคาย พื้นที่ 2,960 ไร่ คาดว่าทั้ง 3 นิคมจะเปิดดำเนินการราวปี 2560 เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

 

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยังคงมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากที่รัฐบาลมีนโยบายจะเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนใน 5 พื้นที่ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมาจากกลุ่มทุนในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามายังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

 

ส่วน Rubber City พื้นที่ 755 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา ขณะนี้การออกแบบขั้นหลักการ (Conceptual Plan) เสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังทำพิมพ์เขียว คาดว่าการก่อสร้างจะเกิดขึ้นราวปลายปี 2558 เปิดบริการกลางปี 2560 รองรับอุตสาหกรรมยางปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ที่นอน-หมอนยางพารา ฝาย อ่างเก็บน้ำ ยางวิศวกรรมต่างๆ ส่วนอีก 20% รองรับการผลิตยางคอมพาวป์ รวมทั้งในอนาคตอาจจะมีการดึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตถุงมือยาง และผู้ซื้อน้ำยางจากประเทศไทยเข้ามาร่วมจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยด้วย

 

ทั้งนี้ กนอ.ยังเตรียมลงนาม MOU กับคลัสเตอร์พลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มพลาสติก สถาบันพลาสติก และ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) ในวันที่ 10 มี.ค.2558 นี้ ตั้งโรงงานแปรรูปบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยอยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ระหว่างแม่สอดหรือสระแก้ว รวมทั้งกำลังเจรจาคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่เดียวกัน คาดว่าน่าลงนาม MOU ได้ประมาณ H2/2558 โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับเครือ SCG รวมทั้งมีความสนใจจะเจรจาคลัสเตอร์กลุ่มอาหารเครื่องดื่มให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดนในอนาคตด้วย

 

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 16 มี.ค.2558 นี้ จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจนจากเบื้องต้นที่กำหนดไว้แบบครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ นำร่องได้แก่ (1) เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก (2) เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร (3) เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว และ (4) เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด

 

นอกจากนี้ กนอ.มีแผนเพิ่มพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และการเข้าสู่ประตูการค้าอาเซียน โดยจะประกาศเชิญชวนภาคเอกชนเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือ จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก ลำปาง กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พะเยา และเชียงใหม่ และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และอุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนได้ในเดือน มี.ค.2558 นี้