ECONOMICS

สภาอุตฯเสนอรัฐลดภาษีSME-ยกเว้นภาษีย้อนหลัง ดึงSMEเข้าระบบ
POSTED ON 20/02/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยมีตัวแทนของภาคเอกชน 6 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ได้เสนอมาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในระยะเร่งด่วน โดยเสนอให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่ต้องเสียภาษี 20% ให้ปรับลดตามอัตรากำไรธุรกิจของเอสเอ็มอี หากมีกำไรไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี เสียภาษี 5% มีกำไรมากกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 10% และมีกำไรเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี ให้เสียภาษีในอัตรา 15% รวมทั้งให้มีมาตรการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกินปีละ 200 ล้านบาท

 

มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบของรัฐมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบเสียภาษีอย่างถูกต้องเพียง 7-8 แสนราย หากมีมาตรการเหล่านี้ธุรกิจเอสเอ็มอีจะเข้ามาอยู่ในระบบเป็นสัดส่วนสูงถึง 80-90%

 

ทั้งนี้ กรอ.ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยมี รมว.คลัง เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจาก ส.อ.ท. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมสรรพากร โดยให้หารือร่วมกันให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

 

"ปกติรัฐบาลเก็บภาษีจากเอสเอ็มอีไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีมาตรการจูงใจให้เขาเข้าระบบ ซึ่งหากมีการแก้ไขตรงนี้อาจเป็นมาตรการระยะสั้น 3 ปี โดยมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องรัฐก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น แม้จะเป็นอัตราที่ลดลง แต่ฐานภาษีกว้างขึ้น เอสเอ็มอีก็จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้มากขึ้น โอกาสที่จะยกระดับเป็นธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นด้วย" นายสุพันธ์ กล่าว

 

สำหรับมาตรการอื่นๆ ในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี กรอ.ได้มีการหารือถึงการเตรียมพร้อมการดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว การให้ความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการลงทุนร่วมของภาครัฐในธุรกิจเอสเอ็มอีในลักษณะ Venture Capital Fund

 

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีประมาณ 2.76 ล้านราย คิดเป็น 97.2% ของวิสาหกิจทั้งหมด ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเอสเอ็มอีในปี 2557 มีมูลค่ารวม 4.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37.4% ของจีดีพีรวม ในปี 2558 จะยังขยายตัว เห็นได้จากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี (SMEs Leading Economic Index) ณ เดือน ธ.ค.2557 อยู่ที่ระดับ 111.03 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.2557 ที่ผ่านมา 0.32% และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

 

ปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 การส่งเสริมเอสเอ็มอีของภาครัฐเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เช่น การส่งเสริมการลงทุน การสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน การสนับสนุนแหล่งเงินทุนเอสเอ็มอี ฯลฯ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยแนวโน้มที่ดีขึ้นนี้สะท้อนได้จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตรถยนต์นั่งขนาด 1,501-1,800 ซีซี รถปิกอัพ รวมถึงพาหนะเพื่อการพาณิชย์ และพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต เอสเอ็มอีส่งออกปี 2557 เพิ่ม 8.15%

 

สำหรับการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอี พบว่า การส่งออกในเดือน ธ.ค.2557 มีมูลค่า 154,983 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ก่อน 5.85% และหดตัวลงจากเดือน พ.ย.2557 ที่ผ่านมา 1.27% ขณะที่รอบปี 2557 การส่งออกมีมูลค่า 1,917,192 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.15 %

 

ตลาดหลักที่เอสเอ็มอีไทยส่งออกสินค้ามากที่สุดในรอบปี 2557 ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 509,437 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มูลค่า 233,943 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 198,399 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 185,167 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่า 149,634 ล้านบาท

 

ด้าน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากการประเมินโดยใช้ระบบ LEED-X โดยใช้ฐานข้อมูลในช่วงปี 2554-2555 ซึ่งมีความถูกต้องและแม่นยำถึงร้อยละ 80 พบว่า ในช่วงปี 2558-2560 หรือ 3 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 4 ภาคอุตสาหกรรมไทยใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ (1) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (2) สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม (3) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (4) ยานยนต์และชิ้นส่วน และ (5) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรม จะมีความต้องการแรงงานรวมกันมากถึง 3.268 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอัตราว่างงานของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.6-0.7 เท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยเสริม

 

ระยะสั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพทักษะฝีมือแรงงานก่อนเข้าทำงาน พร้อมกันนี้ต้องสนับสนุนโรงงานและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในนโยบายส่งเสริม Talent Mobility ส่วนระยะกลางถึงระยะยาวต้องเพิ่มประสิทธิภาพหรือความสามารถของแรงงาน สนับสนุนให้มีการลงทุนในเครื่องจักร มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อีกทั้งควรจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน

 

สำหรับภาพรวมความต้องการแรงงาน 5 อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานถึง 3.268 ล้านคน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องการมากถึง 1.31 ล้านคน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ต้องการ 8.85 แสนคน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4.7 แสนคน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 4.3 แสนคน และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ต้องการ 1.73 แสนคน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, บ้านเมือง