ECONOMICS

สศอ. คาด ดัชนีผลผลิตอุตฯปีนี้โต 4%
POSTED ON 04/02/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2557 หดตัว 0.35% โดยมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากการที่ดัชนีฯ หดตัวในอัตราที่น้อยลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่หดตัว 3.68% ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนธันวาคม 2557 ขยายตัวต่อเนื่อง 4.1% และภาพรวมปี 2557 ขยายตัว 1.4% ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.2% ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มภาคการผลิตที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงว่าเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น MPI ทั้งปี 2557 หดตัว 4.6% และคาดว่าในเดือนมกราคมนี้จะกลับมาเป็นบวก

 

"มั่นใจว่าในปีนี้ MPI จะขยับขึ้นแตะระดับถึง 3-4% เป็นผลมาจากยอดการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ซึ่งมีแนวโน้มการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นถึง 14% รวมถึงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และในตลาดโลกที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวเป็นระยะ อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่จะส่งผลดีต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมด้วยส่วนปัจจัยที่จับตามองที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทย คือ กลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวถึง 2-3% ภายใต้การขยายตัวจากจีดีพีของประเทศ 3-4% ขณะที่อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 60.48%" นายอุดม กล่าว

 

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เดือนธันวาคม 2557 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการผลิตรถยนต์ 153,669 คัน ลดลง 3.28% ส่วนการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 89,504 คัน ลดลง 21.43% และการส่งออกรถยนต์ จำนวน 89,146 คัน เพิ่มขึ้น 1.35% ส่วนปี 2558 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.36% หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้น 13.43% และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.94% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

 

ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวมเดือนธันวาคม 2557 ปรับตัวลดลง 2.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง 2.83% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ส่วน Semiconductor Monolithic IC และ Other IC ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.99% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น ยกเว้นสายไฟฟ้าและเครื่องรับโทรทัศน์ปรับลดลง โดยในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนแนวโน้มปี 2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-2% โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5-1% ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 1-2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศ จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยเดือนธันวาคม 2557 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 2.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง 1.96% การส่งออกลดลง 23.72% ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลง 5.56% โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายหนึ่งได้กลับมาผลิตหลังจากหยุดการผลิตไปหลายปี สำหรับปี 2558 คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในส่วนการผลิตจะทรงตัว 6.82- 6.89 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะขยายตัวใน 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

 

ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ เดือนธันวาคม 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 2.02% จากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนกลุ่มผ้าผืนมีการผลิตลดลง 3.21% ในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 17.72% ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปีตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศและการบริโภคภายในที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชนองค์กรต่างๆ ใส่เสื้อสีเหลืองในเดือนธันวาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เป็นต้น

 

ส่วนแนวโน้มปี 2558 คาดว่า การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ ทั้งภาคการผลิตและการส่งออก โดยในกลุ่มสิ่งทอจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาครัฐได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่อใช้ประโยชน์ด้านแรงงาน ค่าจ้างที่ต่ำกว่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) จากตลาดส่งออกหลัก เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

 

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารในเดือนธันวาคม 2557 ภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน 2.5% เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้และน้ำตาลที่ลดลง เป็นผลจากวัตถุดิบที่ออกสู่ตลาดลดลง และภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัว ส่วนการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น 2.3% เนื่องจากได้รับผลดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ส่วนแนวโน้มปี 2558 คาดว่า การผลิตในภาพรวมจะขยายตัวประมาณ 0-5.0% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับ -2.5-2.5% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักทยอยฟื้นตัวขึ้น