ECONOMICS

รมว.อุตฯ ยัน ลอยตัวน้ำตาลภายในสิ้นปีนี้
POSTED ON 28/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการหารือกับสมาคมชาวไร่อ้อย ว่า ทางกลุ่มชาวไร่อ้อยได้แสดงความเป็นห่วง หากรัฐบาลมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จากการหารือกับ รมช.พาณิชย์ ล่าสุด มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายหลังการเปิดเออีซี ภายในสิ้นปี 2558

 

โดยราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ คงจะใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันที่กิโลกรัมละ 23 บาท เนื่องจากราคาขณะนี้ได้บวกเงินเก็บ เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่กิโลกรัมละ 5 บาท จากราคาน้ำตาลที่แท้จริง 18 บาทต่อกิโลกรัม

 

ทั้งนี้ การเปิดเสรีลอยตัวราคาน้ำตาลจะต้องยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาทแน่นอน แต่เกษตรกรมีความเป็นห่วงว่าหากไม่เก็บเงินตรงนี้ หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงจนต่ำกว่า ต้นทุนจะไม่มีเงินเข้ามาช่วยเหลือเกษตร โดยเรื่องนี้ทาง รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่าจะยังคงมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเหมือนเดิม ส่วนเงินที่เก็บเข้ากองทุนฯ จะมาจากส่วนต่างของราคาส่งออก ถ้าในช่วงที่ราคาในตลาดโลกสูงมากกว่าระดับที่กำหนดไว้ ก็จะเก็บส่วนเกินเข้ากองทุนฯ เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาตกต่ำ และจากการประเมินราคาน้ำตาลทรายที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะสูงกว่าราคาภายในประเทศ ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะมีเงินกองทุนฯเพียงพอที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร

 

"ในอาเซียนมีเพียงไทยประเทศเดียวที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาล ดังนั้น หากเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซีจะทำให้ตลาดน้ำตาลทรายของไทยขายอย่างเสรีได้ใน 10 ประเทศ ประชากรกว่า 600 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10 เท่า ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านต่างบริโภคน้ำตาลแพงกว่าประเทศไทยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30-40 บาท นั่นจึงทำให้ไทยจะมีรายได้จากน้ำตาลทรายเข้าประเทศมากขึ้น" นายจักรมณฑ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ มีเกษตรกรบางรายได้แสดงความเป็นห่วงว่า หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้มีผู้ประกอบการส่งออกน้ำตาลภายในประเทศจนหมด ทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นได้ ในเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่าจะยังคงโควตา ก. หรือโควตาน้ำตาลทรายที่จำหน่ายภายในประเทศเหมือนเดิม แต่จะประเมินอีกครั้งว่าควรจะมีปริมาณเท่าไรที่เหมาะสม โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปศึกษาและวางแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้เสร็จภายในเดือน มี.ค.2558 นี้

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยจะแก้ไขมาตรการที่เกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะ แบ่งปันรายได้ให้กับเกษตรกร 70% และโรงงานน้ำตาล 30% หรือ 70: 30 จะเพิ่มรายได้อื่นๆ ที่มาจากอ้อย เช่น การผลิตเอทานอล และการผลิตไฟฟ้า จากชานอ้อย เข้าสู่ระบบแบ่งปัน 70 : 30 ด้วย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร ซึ่งในขณะนี้ โรงงานน้ำตาลก็แบ่งปันให้เกษตรกรอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายเข้ามากำหนดอย่างชัดเจน

 

ก่อนหน้านี้ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม โดยเสนอให้ยกเลิกการเก็บเงินจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม เข้ากองทุน อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไปศึกษา โดยเห็นว่าในที่สุดราคาน้ำตาลทรายควรจะปล่อยให้อิงกลไกตลาดโลก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ