ECONOMICS

ยอดขอส่งเสริมลงทุนปี 2557 สูงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี
POSTED ON 28/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 ที่ผ่านมา ว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 3,469 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,192,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับการขอรับส่งเสริมในปี 2556 พบว่า มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดอันดับ 1 เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีจำนวน 799 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 822,162 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก จำนวน 503 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 430,091 ล้านบาท อันดับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ จำนวน 734 โครงการ เงินลงทุนรวม 325,864 ล้านบาท และ อันดับ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 806 โครงการ เงินลงทุนรวม 271,039 ล้านบาท

 

ขณะที่ในเดือนธันวาคม 2557 มีการยื่นขอรับส่งเสริมมากถึง 2,092 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 1,428,200 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนหรือขยายการลงทุนในอนาคตอยู่แล้ว จึงเร่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเร็วขึ้น เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเดิม ก่อนที่นโยบายใหม่ที่สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมบางกลุ่มลดลง จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2558

 

ลักษณะการเร่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนก่อนที่นโยบายจะสิ้นสุดลง เคยเกิดขึ้นเช่นกันในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสิ้นสุดระยะเวลาให้ส่งเสริม ได้มีโครงการที่เข้าเงื่อนไขยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 2,582 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,464,200 ล้านบาท

 

ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ ระดับหลายพันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาทที่ยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาในเดือนธันวาคม 2557 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค เช่น โรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ การขนส่งทางอากาศ เขตอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมโลหะ โดยเฉพาะการผลิตเหล็กขั้นปลายน้ำ เป็นต้น

 

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 บีโอไอจะมุ่งเน้นส่งเสริมโครงการที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย หรือมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ ทั้งด้านวิจัยพัฒนาและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายของบีโอไอจะอยู่ที่คุณค่าทางโครงการมากกว่าจำนวนโครงการหรือเม็ดเงินลงทุน

 

ในส่วนการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศในปีนี้ นอกจากจะเป็นการเดินทางไปชี้แจงถึงรายละเอียดของนโยบายใหม่แล้ว บีโอไอได้กำหนดกลุ่มบริษัทเป้าหมายที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายใหม่ในประเทศต่างๆ ไว้แล้ว เช่น บริษัทในกลุ่มวิจัยพัฒนา หรือบริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เป็นต้น