ECONOMICS

เปิดทางเอกชนเช่าที่ดินรัฐในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังราคาที่ดินพุ่ง
POSTED ON 20/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - รัฐบาลเตรียมจัดหาที่ดินของรัฐให้เอกชนเช่าระยะยาวสร้างโรงงานและเขตนิคมอุตสาหกรรม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากราคาที่ดินพุ่งขึ้น 10 เท่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนชายแดนรองรับประชาคมอาเซียนในปีที่ผ่านมา

 

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ มากกว่าพื้นที่อื่น แต่ยังไม่มีนักลงทุนให้ความสนใจมากนัก ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล่าช้าและปัญหาราคาที่ดินราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบการเก็งกำไรราคาที่ดิน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "หากเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องใช้พื้นที่ของ รัฐและสาธารณประโยชน์ เพื่อชักจูงให้บริษัทของเราและต่างชาติมาลงทุน ไม่เช่นนั้นไปซื้อที่ดินไม่ไหว เพราะราคาที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะขึ้นจาก 5% เป็น 10% เราต้องลดลงมาให้เขาซื้อได้ ไม่เช่นนั้นเราจะไปไหนไม่ได้ ภาคเอกชนต้องช่วยเรา ประชาชนที่มีที่เยอะต้องช่วยเรา ถ้าเก็บที่ดินไว้มาก วันหน้าก็เสียภาษีมาก แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายที่ดินที่ถือครอง จะให้เราไปยึดที่ดินแล้วแจกคนจนนั้นทำไม่ได้"

 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้ง กนพ. ขึ้นมา มีหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งแต่ปี 2557

 

ขณะที่ทางด้าน กนพ.ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในการพิจารณารายละเอียดของพื้นที่ รวมทั้งไปดูพื้นที่ของภาครัฐที่จะมีสามารถจัดสรรให้กับนักลงทุนได้เช่าเพื่อจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยพื้นที่ที่จะมีการหาพื้นที่ให้อาจเป็นพื้นที่ในลักษณะป่าเสื่อมโทรม ป่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือป่าสงวนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งพื้นที่ของกรมธนารักษ์ เพื่อจัดสรรให้เอกชนเช่าในกรณีที่เขาไม่สามารถหาซื้อที่ดินได้

 

ในกรณีที่ภาคเอกชนหาที่ดินในเขตที่มีการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ เนื่องจากอาจมีราคาสูงเกินไป แต่เอกชนยังต้องการลงทุนโดยขยับพื้นที่ออกมานอกเขตที่มีการประกาศฯ และเป็นพื้นที่ที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีความเหมาะสม เช่น มีสาธารณูปโภคพร้อม โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่มในเรื่องสาธารณูปโภคให้ กนพ.ก็อาจจะพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมให้ ซึ่ง กนพ.ก็ต้องพิจารณาร่วมกับภาคเอกชน

 

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากที่ประชุม กนพ.เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกแห่งทั่วประเทศ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมปีงบประมาณ 2558 -2562 เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการเชื่อมโยงชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

แต่นายกรัฐมนตรีทักท้วงว่าไม่มีงบประมาณมากพอในการดำเนินการ จึงเห็นชอบเฉพาะแผนปีงบประมาณ 2558-2559 ก่อน โดยยังไม่เห็นความจำเป็นในการต้องเสนองบประมาณเข้ามาเป็นแพ็คเกจในระยะยาว โดยขณะนี้ตรงไหนที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่สุดก็ให้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมให้ได้

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังได้กำชับว่าให้หน่วยงานต่างไปทำความเข้าใจกับภาคเอกชนเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าขั้นตอนต้องเริ่มต้นอย่างไร หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ และเมื่อเอกชนเข้ามายื่นขอการสนับสนุนแล้วจะต้องดำเนินการให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ไม่ให้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานเกินไป

 

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า กนพ.มีมติเห็นชอบให้ขยายพื้นที่การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 จากเดิมที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด 6 ด่านชายแดน เพิ่มเป็น 6 จังหวัด โดยให้เร่งรัดการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษใน จ.หนองคาย ขึ้นมาอยู่ในการพัฒนาระยะที่ 1 ด้วย เพื่อรองรับโครงการการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟขนาดปานกลางระหว่างไทยกับจีนที่จะเริ่มมีการก่อสร้างในปีนี้

 

"นอกจากนี้ ยังมีการเสนอขอเพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ น่าน, นครพนม, นราธิวาส, สงขลา ในส่วนของ อ.หาดใหญ่ และ จ.บึงกาฬ เป็นต้น โดยให้คณะกรรมการฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอยากจะเห็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นรูปธรรมอย่างน้อย 1 เขตภายในปี 2558 นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นลำดับแรก ซึ่งขณะนี้ อ.แม่สอด จ.ตาก มีความพร้อมมากที่สุด รองลงมาคือ จ.สระแก้ว" นายอาคม กล่าว  

 

การได้ฟังเสียงสะท้อนจากเอกชนรายใหญ่เนื่องจากการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่จะทำให้เกิดการลงทุนที่ต่อเนื่องของบริษัทลูกที่อยู่ในซัพพลายเชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของสิทธิประโยชน์จีเอสพีจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้กฎของแหล่งกำเนิดสินค้า ทำให้ได้ประโยชน์โดยอัตโนมัติ เพราะประเทศรอบบ้านของไทยยังได้สิทธิจีเอสพีอยู่ นอกจากนั้น ยังมีการเชื่อมโยงในด้านโลจิสติกส์เมื่อมีการสร้างศูนย์กระจายสินค้าสินค้าที่มาพักอยู่ที่ไทยก็จะได้ใช้ประโยชน์จากการส่งออกจากท่าเรือในประเทศไทย

 

นายอาคม กล่าวว่าส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบการให้เอกชนเช่า โดยในประเทศไทยตามกฎหมายให้เอกชนเช่าที่ดินของรัฐได้ในนามของบริษัท โดยส่วนใหญ่ระยะเวลาสัญญาณในการเช่า 30-50 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมักให้สิทธิในการเช่า 50 ปี ซึ่งไทยอาจใช้การใช้เช่า 50 ปีและต่อเวลาได้ 30 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล

 

ขณะที่ทางด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนและหน่วยงานระดับปฏิบัติสะท้อนมาก็คือปัญหาการเข้าไปใช้พื้นที่ในเขตพื้นที่จริง โดยกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ในการดูแลของหลายหน่วยงาน ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในการบูรณาการแก้ปัญหา ทั้งในเรื่องการใช้พื้นที่ และการพิจารณาความเหมาะสมของเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ที่เสนอเข้ามาใหม่ โดยให้มานำเสนอความคืบหน้าในการประชุมในครั้งต่อไป เริ่มแปรรูปสินค้าเกษตรแล้ว 2 ด่าน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ