ECONOMICS

สภาอุตฯ เสนอรัฐเว้นเก็บภาษีย้อนหลัง ดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบ
POSTED ON 14/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า สอท.มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถึงปัญหาด้านข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 2.7 ล้านราย พบว่า มีมากกว่า 2 ล้านรายที่ไม่ขึ้นทะเบียนในระบบ เพราะกังวลว่าจะถูกเก็บภาษีย้อนหลัง

 

ดังนั้น ภาครัฐควรมีความชัดเจนว่าจะมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในส่วนของ สอท.ต้องการให้ภาครัฐออกนโยบายนิรโทษกรรม ไม่เก็บภาษีเอสเอ็มอีนอกระบบย้อนหลัง เพื่อจูงใจให้กลุ่มนี้ลงทะเบียน เพราะเอสเอ็มอีมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่เป็นปัญหาเร่งด่วน

 

ส่วนการดูแลเอสเอ็มอีนั้น สอท.ได้เสนอเบื้องต้นต่อภาครัฐไปแล้ว โดยเสนอ 3 ประเด็นหลัก คือ (1) เสนอให้รัฐบาลเร่งกำหนดให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรม การพัฒนาสินค้า และการเข้าถึงตลาด (2) เสนอให้รัฐเร่งผลักดันงบประมาณการลงทุนของประเทศโดยเฉพาะโครงการที่เป็นการลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ลงทุนกลุ่มนี้ได้โดยตรง และ (3) เสนอให้รัฐบาลเร่งดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีระดับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะใช้นโยบายใดในการดูแลราคาข้าวให้เกิดประโยชน์กับชาวนามากที่สุด

 

ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ลงนามในประกาศที่ 5/2557 เรื่อง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีไทยสู่ระดับสากล

 

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีที่สามารถยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด อาทิ เป็นกิจการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เป็นต้น โดยจะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีสูงกว่าเกณฑ์ปกติ เช่น ได้รับยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 2-8 ปี เช่น กิจการที่ยังไม่ได้รับยกเว้นจะได้รับยกเว้น 2 ปี กิจการที่ได้รับยกเว้น 3 ปี จะได้รับเพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี เป็นต้น และยังมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1-3 ปี หากมีการลงทุนเพิ่มในด้านต่างๆ

 

และกรณีมีที่ตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 20 จังหวัดรายได้น้อย อาทิ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ เป็นต้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี แต่มาตรการทั้งหมดนี้จะได้รับเมื่อมีการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2560

 

ที่มา : แนวหน้า, มติชน