ECONOMICS

หอการค้าไทย ชี้ ตัดสิทธิ์ GSP ทำส่งออกไทยสูญกว่า 3 หมื่นล้านบาท
POSTED ON 14/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยปี 2558 สดใสกว่าปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0 - 4.9% มูลค่า 229,866-238,923 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีโอกาส 50% ที่จะขยายตัวได้ 3.1% มูลค่า 234,745 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2557 ที่คาดว่าจะติดลบ 0.4%

 

หากพิจารณารายตลาด พบว่า ตลาดสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2557 เป็น 4.2% ในปี 2558 หรือมีมูลค่า 24,802 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ปีนี้ เป็น 3.1% ในปีหน้า ตลาดญี่ปุ่นคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยติดลบ 0.5% มูลค่า 21,751 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดอาเซียนเดิม คาดว่าจะขยายตัว 3.7% มูลค่า 40,591 ล้านเหรียญสหรัฐ จากหดตัว 2.9% ในปี 2557

 

ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) คาดว่าจะหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากหดตัวอย่างหนักในปี 2555 จากการที่อียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทยจำนวน 6,200 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 คาดว่าการส่งออกไปอียูจะติดลบ 0.3% มีมูลค่า 21,280 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ประเทศไทยส่งออกไปอียู คิดเป็นสัดส่วน 10.3% ของการส่งออกรวม โดย 90% ของการส่งออกไปอียู ส่งออกไปยังอียูเดิม 15 ประ เทศ ซึ่งการถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 31,000 ล้านบาท หากรวมการถูกแคนาดาและตุรกีตัด GSP มูลค่าส่งออกหายไปรวม 31,592 ล้านบาท หรือ 0.4% ของการส่งออกรวม

 

นายอัทธ์ กล่าวว่า แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ไทยไม่ได้เปรียบมากนัก เนื่องจากยังอ่อนค่าน้อยกว่าคู่แข่ง โดยเงินบาทอ่อนค่าเป็นอันดับ 6 รองจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน และพม่า ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งนี้ มองว่าเงินบาทที่เฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็นระดับที่การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้