ECONOMICS

สศอ. ชี้ อุตฯไทยหลายกลุ่มยังใช้สิทธิ FTA ค่อนข้างต่ำ
POSTED ON 12/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - "นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือถึง "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันการเก็บเกี่ยวการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ประเทศไทยทำไว้กับประเทศคู่ค้าจำนวน 11 ฉบับ กับ 15 ประเทศ โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยวการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ที่ได้ทำความตกลงการค้าเสรีไว้กับอาเซียนเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนจากการส่งออกและนำเข้าสินค้า ภายใต้ข้อตกลง FTA ที่ทำไว้ให้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ เนื่องจากผลการศึกษาของ สศอ.พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการของไทยในอุตสาหกรรมจำนวน 17 สาขา ได้แก่ ยานยนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เซรามิก เยื่อกระดาษ/กระดาษ/สิ่งพิมพ์ ปูนซีเมนต์ ยา และปิโตรเคมี มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลง FTA ที่มาขอลดหย่อนภาษีศุลกากรในสัดส่วนที่ต่ำอยู่

 

โดยการส่งออกสินค้าไปในประเทศภาคีที่ทำไว้ พบว่า มีอัตราการไปขอใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีศุลกากรภายในข้อตกลง FTA ประมาณ 51.8% ของมูลค่าการส่งออก ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนได้เพียง 1.35 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่การนำเข้าสินค้ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯเพียง 54.6% ช่วยลดต้นทุนได้เพียง 9.13 หมื่นล้านบาท และหากมาพิจารณาการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ทำไว้กับอาเซียน จะพบว่า ภาคการส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ เพียง 41% ของมูลค่าการส่งออก โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯในการส่งออกไปเมียนมาร์เพียง 7.4% กัมพูชา 5.7% และ สปป.ลาว 3.8% ขณะที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จากการนำเข้า 52.6% เท่านั้น

 

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เป็นรายย่อยไม่ทราบรายละเอียดของการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ดังกล่าว และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการขอใช้สิทธิประโยชน์ฯ และกระบวนการขอใช้สิทธิประโยชน์ฯ มีความยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงมีความไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ เกรงว่าจะทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นมา จึงพึงพอใจกับการดำเนินงานที่เป็นอยู่ การตีความพิกัดของสินค้าที่ไม่ตรงกัน รวมถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น การส่งออกสินค้าบางประเภทไปมาเลเซียกำหนดไว้ว่าผู้ที่นำเข้าได้จะต้องเป็นบริษัทท้องถิ่นถึงจะนำเข้าได้ เป็นต้น

 

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาขอใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีศุลกากรจากข้อตกลง FTA มากขึ้นไปในระดับ 80-90% ได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายจะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตในประเทศจะช่วยลดต้นทุนได้ระดับหนึ่ง เพราะหากดำเนินการได้ตามที่วางไว้จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการส่งออกได้กว่า 2.5 แสนล้านบาท และลดต้นทุนการนำเข้าได้กว่า 1.32 แสนล้านบาท

 

โดย สศอ.เห็นว่า หากจะดึงผู้ประกอบการมาใช้สิทธิประโยชน์ฯให้มากขึ้นนั้น จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์เจาะลึกลงไปในแต่ละสาขาให้มาสนใจ และให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขข้ออุปสรรคที่เป็นปัญหา เพื่อให้เกิดความสะดวกและไม่ซับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานเดียว จึงต้องอาศัยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือ

 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำและไม่ถึง 50% ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียง 19.3% เหล็กและเหล็กกล้า 22.5% เครื่องหนัง 31% ยา 35.9% เครื่องใช้ไฟฟ้า 37.2% ปูนซีเมนต์ 41.1% กระดาษ 41.9% สิ่งทอ 43.1% และอาหาร 45.3% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงแต่ไม่เต็ม 100% ได้แก่ พลาสติก 73.3% ไม้และเฟอร์นิเจอร์ไม้ 71.3% เคมีภัณฑ์ 68.7% เครื่องนุ่งห่ม 64.9% และชิ้นส่วนยานยนต์ 52.4% เป็นต้น

 

สำหรับการนำเข้าสินค้า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ต่ำ จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี 13% ปิโตรเคมี 36% เครื่องจักรกล 40.8% เครื่องใช้ไฟฟ้า 42% ไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้ 44.4% และพลาสติก 46.2% ส่วนกลุ่มที่ใช้สิทธิประโยชน์ฯสูงแต่ไม่ถึง 100% ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า 72.6% ยานยนต์ 71% เซรามิก 69.9% เครื่องนุ่งห่ม 68.5% อิเล็กทรอนิกส์ 66.2% ยาง 65.7% เคมีภัณฑ์ 65.1% ยา 65.4% และเครื่องหนัง 61.7%

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ