ECONOMICS

สสว.เผย 11 กลุ่มธุรกิจเด่นและ 3 กลุ่มเฝ้าระวัง ในปี 2558
POSTED ON 06/01/2558


สถานการณ์เอสเอ็มอีปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขส่งออก ม.ค.-ต.ค.2557 มีมูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.49 ขณะที่ GDP เอสเอ็มอีทั้งปืคาดว่าขยายตัวร้อยละ 0.5 ผลจากการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเอสอ็มอีของรัฐบาล จะส่งผลดีต่อเนื่องให้ปี 2558 GDP เอสเอ็มอีขยายตัวร้อยละ 5.4 พร้อมเผย 11 กลุ่มธุรกิจเด่นในปี 2558

 

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วิเคราะห์สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในรอบปี 2557 พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จาก GDP เอสเอ็มอีนับตั้งแต่ไตรมาส 1, 2 และ 3 แม้จะมีอัตราหดตัวลงร้อยละ 1.4, 0.7 และ 0.2 ตามลำดับ แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์เอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น โดย GDP เอสเอ็มอี (ม.ค.-ก.ย.2557) มีมูลค่ารวม 3.37 ล้านล้านบาท ซึ่งร้อยละ 57 มาจากการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือร้อยละ 43 มาจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศคิดเป็นร้อยละ 38.2 และคาดว่าไตรมาส 4 จะขยายตัวและมีค่าเป็นบวก ส่งผลให้ภาพรวมของปี 2557 GDP เอสเอ็มอีจะขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 0.5

 

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอีปี 2557 พบว่า การส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.2557) มีมูลค่า 1,607,939 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.49 และมีสัดส่วนร้อยละ 26.3 ของการส่งออกรวมทั้งประเทศ ตลาดหลักที่เอสเอ็มอีไทยส่งออกสินค้ามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 427,651 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.6 ของการส่งออกของเอสเอ็มอี รองลงมาคือ จีน มูลค่า 191,656 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 167,029 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 158,145 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 124,064 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกไปทุกตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 16.43 เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) กับประเทศไทยในปี 2558

 

สินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ  

 

ส่วนการนำเข้าของเอสเอ็มอี 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.2557) มีมูลค่า 1,834,688 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.92 และคิดเป็นร้อยละ 29.4 ของการนำเข้ารวมของประเทศ ตลาดที่เอสเอ็มอีนำเข้าสินค้าสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 497,722 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.1 ของการนำเข้ารวมของเอสเอ็มอี รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 277,679 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 260,097 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 219,639 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 110,730 ล้านบาท

 

โดยสินค้าที่เอสเอ็มอีนำเข้าสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ

 

 

 

เมื่อพิจารณาด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.2557) พบว่า มีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 51,725 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.79 ประเภทกิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป มูลค่า 5,473 ราย มีทุนจดทะเบียน 13,237 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดขายส่งเครื่องจักร และหมวดภัตตาคาร/ร้านอาหาร ตามลำดับ

 

ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการมีจำนวน 11,847 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.02 ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ หมวดกิจกรรมขายสลากกินแบ่ง มีจำนวน 1,286 ราย ทุนจดทะเบียน 478 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และหมวดซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ สสว. ประมาณการณ์เอสเอ็มอี (ณ เดือน ธ.ค. 2557) ภายใต้สถานการณ์ของประเทศในภาวะปกติ โดยคาดการณ์สถานการณ์เอสเอ็มอีในปี 2558 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ภายใต้สมมติฐานในการประมาณการเอสเอ็มอี ได้แก่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2

 

ตารางสรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ปี 2558 (หน่วย : ร้อยละ)

ปัจจัยด้านอุปสงค์

2556

2557_f

2558_f

  การบริโภคภาคเอกชน

0.3

0.2

4.6

  การบริโภคภาครัฐ

4.9

3.5

2.4

  การลงทุนภาคเอกชน

-2.8

-2.6

10.2

  การลงทุนภาครัฐ

1.3

1.1

2.7

  การส่งออกสินค้าและบริการ

4.2

1.0

4.0

  การนำเข้าสินค้าและบริการ

2.3

-1.4

9.1

  สต๊อกทุนของประเทศสุทธิ

2.5

2.0

2.5

  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ (GDP)

2.9

1.4

4.1

  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SMEs (GDP SME)

3.8

0.5

5.4

 

 

กลุ่มธุรกิจเด่น-เฝ้าระวัง ปี 2558

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี เนื่องจากมีความต้องการในตลาดคู่ค้าสูง มีบทบาทในการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มีศักยภาพการแข่งขันทั้งในตลาดโลกและตลาดภูมิภาค รวมทั้งเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับกระแสโลก มีจำนวน 11 กลุ่ม ประกอบด้วย

 

1.ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์การแพทย์ ขณะที่การส่งออกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

2.ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยทั้ง เอเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เริ่มกระเตื้องขึ้น กอรปกับไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน ทำให้สินค้าในกลุ่มธุรกิจนี้มีโอกาสสูงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

 

3.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผลจากแนวโน้มของอาหารเพื่อสุขภาพ ความงาม และอาหารเฉพาะกลุ่ม (คนอ้วน คนป่วย ทารก และนักกีฬา) มีลู่ทางที่ดี

 

4.ธุรกิจการบริการด้านการศึกษา เนื่องจากมีการส่งเสริมการศึกษานอกระบบเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับการสร้าง Knowledge Economy

 

5.ธุรกิจด้านพลังงาน ผลจากต้นทุนมีทิศทางลดต่ำลง ขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทนเนื่องจากกระแสความสนใจเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน

 

6.ธุรกิจภาคเกษตรกรรม เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงการผลิตในกลุ่ม CLMV ตามการเปิด AEC และเป็นธุรกิจต้นน้ำของธุรกิจเกษตรแปรรูปอาหาร ยา และพลังงานทดแทน ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง

 

7.ธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากได้รับโอกาสจากการเปิด AEC ที่แต่ละประเทศมีการพัฒนาทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน งานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ขณะที่ภาครัฐของไทยมีการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ฯลฯ

 

8.ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ มีโอกาสเติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และการเปิด AEC ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งมวลชนและสินค้าได้มากขึ้น

 

9.ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพการแข่งขันทั้งในตลาดโลกและตลาดภูมิภาค ที่สำคัญการเปิด AEC จะทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายท่องเที่ยวในกลุ่ม CLMV ได้ด้วย และผลจากการเมืองที่มีเสถียรภาพทำให้ทิศทางการท่องเที่ยวไทยสดใส

 

10.ธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ ผลจากความตื่นตัวด้านสุขภาพ ด้านการชะลอวัย และโครงสร้างทางสังคมเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ

 

11.ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนื่องจากนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล จะสร้างความตื่นตัวในการพัฒนาระบบ IT และระบบ ICT ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความต้องการจากตลาดต่างประเทศ

 

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มต้องระมัดระวังในปี 2558 มีทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่

 

1.ธุรกิจการผลิตยารักษาโรค ผลจากการที่ผู้บริโภคตื่นตัวด้านสุขภาพและมีแนวโน้มหันไปใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น

 

2.ธุรกิจการผลิตน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจำกัดโควต้าการส่งออกน้ำนมดิบ ขณะที่ราคาขายน้ำนมดิบของผู้ค้ารายย่อยภายในประเทศตกต่ำลง

 

3.ธุรกิจการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลจากมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่า

 

4.กลุ่มธุรกิจการทำอาหารแปรรูปทั่วไป เนื่องจากตลาดมุ่งเน้นไปยังสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการกระแสการตื่นตัวด้านสุขภาพที่มาแรงในปีหน้า