ECONOMICS

ผลผลิตอุตฯ พ.ย.2557 ติดลบ 3.5% คาดทั้งปีลบ 5%
POSTED ON 06/01/2558


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 2557 ติดลบ 3.5% โดยอุตสาหกรรมที่ทำให้ผลผลิตโดยรวมติดลบในเดือนล่าสุดนี้คืออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.81%

 

"การผลิตที่ออกมาติดลบนี้ถือว่าผิดไปจากที่คาดก่อนหน้านี้ว่า การผลิตในไตรมาสสุดท้ายจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยการติดลบนั้นเกิดจากการผลิตได้เร่งสูงขึ้นในเดือน ก.ย.-ต.ค. ไปแล้ว จึงเริ่มลดกำลังการผลิตลงในเดือนพ.ย. คาดว่าจะลดลงอีกในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่วันทำการน้อยอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้การผลิตทั้งปีติดลบ 4% กว่า แต่ติดลบไม่ถึง 5%" นายอุดม กล่าว

 

คาดว่าต้นปี 2558 การผลิตก็จะกลับมาเป็นบวกแล้ว เพราะผู้ผลิตจะเร่งการผลิตหลังจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้ใช้ของในสต๊อกส่งออกให้คู่ค้าไปแล้ว โดย สศอ. คาดว่าการผลิตปีหน้าจะขยายตัว 3-4% ขณะที่จีดีพีอุตสาหกรรมขยายตัว 2-3% สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะเห็นการขยายตัวสูงคือรถยนต์ เนื่องจากปี 2557 การผลิตติดลบลงไปมากแล้ว และคาดว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 20 ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ขณะนี้ความต้องการในตลาดโลกยังคงมีต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มอาหารก็จะยังขยายตัวดี ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำก็ตาม

 

ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะทรงตัวไม่ได้เติบโตมาก และการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นก็คาดว่าจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่การเติบโตจะไปอยู่ในกลุ่มซอฟต์แวร์และบริการ ในขณะส่วนที่เป็นอุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์จะยังไม่ได้รับอานิสงส์มาก

 

สำหรับการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญในเดือน พ.ย. 2557 นั้น พบว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มีการผลิต 13.55% โดยการผลิตมีจำนวน 158,038 คัน การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 73,068 คัน ลดลง 21.84% แต่การส่งออกขยายตัว 11.03% ในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา

 

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิตติดลบ 4.04% เฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าติดลบ 1.40% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกไปต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยลดลงจากปัญหาการสู้รบ ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์ติดลบ 4.43% แต่มีสินค้าบางตัวขยายตัวได้ดี เช่น Monolithic IC และ IC อื่นๆ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

 

ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามีการผลิตมีปริมาณ 5.3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 7.24% ขณะที่ในส่วนของการส่งออกนั้น เหล็กทรงยาวมีการบริโภคและการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อรักษาระดับปริมาณสินค้าคงคลังและเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น

 

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตเพิ่มขึ้น 2.7% เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์ และประมงที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการของตลาดส่งออก และภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 8.3% เนื่องจากได้รับผลดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปดีขึ้นบางส่วน แต่ยังต้องติดตามปัจจัยกระทบในสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีความแน่นอนจากการติดตามรอผลสรุปการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง