ECONOMICS

หลักเกณฑ์ใหม่บีโอไอ เน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรม
POSTED ON 08/12/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยถึง ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่เริ่มวางแผนมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2556 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ว่า ยุทธศาสตร์ฉบับนี้มีการเตรียมการและรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายครั้ง มีเป้าหมายเพื่อยกขีดความสามารถของประเทศไทยให้มากขึ้นจากประเทศที่มีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำมาเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น

 

"การที่จะยกระดับรายได้ของประเทศ สินค้าต้องเพิ่ม GDP ต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้น เป้าหมายใหม่ของ BOI จะต้องให้การส่งเสริมสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เราจึงต้องมาคัดเลือกอุตสาหกรรมที่จะให้การส่งเสริมใหม่ เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานความรู้ของคน อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง มีนวัตกรรม มีการใช้ R&D ที่จะเพิ่มรายได้และเพิ่มขีดความสามารถ กลุ่มสินค้าเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ค่อนข้างสูง แต่กลุ่มที่มีระดับเทคโนโลยีต่ำลงมาก็ยังได้รับการส่งเสริมอยู่ แต่อาจจะลดน้อยลงไป" นางหิรัญญากล่าว

 

ทั้งนี้ BOI กำหนดให้ใช้ยุทธศาสตร์ใหม่เป็นเวลา 7 ปี (2558-2564) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 มีการระบุประเภทกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นกรณีพิเศษไว้ 15 ประเภทกิจการ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่มีการกำหนดวงเงินภาษีเงินได้ (ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด) ได้แก่...

 

ประเภท 1.3 กิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ

ประเภท 3.9 กิจการบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์

ประเภท 4.11.1 กิจการผลิตลำตัวอากาศยาน/ชิ้นส่วน

ประเภท 5.6 กิจการออกแบบทา อิเล็กทรอนิกส์

ประเภท 5.7 กิจการซอฟต์แวร์

ประเภท 7.1.1.1 กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า/ไอน้ำจากขยะ (Refuse Derived Fuel)

ประเภท 7.8 กิจการบริการด้านจัดการพลังงาน (Energy Service Company หรือ ESCO)

ประเภท 7.9.2 กิจการนิคม/เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

ประเภท 7.10 กิจการประเภท Cloud Service หรือการให้บริการเก็บข้อมูลดิจิทัลคอนเทนต์ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

ประเภท 7.11 กิจการวิจัยและพัฒนา

ประเภท 7.12 กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

ประเภท 7.13 กิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม

ประเภท 7.14 กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

ประเภท 7.15 กิจการบริการสอบเทียบมาตรฐาน

ประเภท 7.19 กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ

 

สำหรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์นั้น ในยุทธศาสตร์ใหม่ได้ยกเลิกการกำหนดเขตส่งเสริมการลงทุนตามพื้นที่ หรือเขต 1-2-3 ซึ่งเป็นแบบกว้างครอบคลุมทุกประเภทกิจการ มาเป็น การจัดทำบัญชีตามลำดับความสำคัญของแต่ละกิจการ ได้แก่

 

(1) สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity-based Incentives) แบ่งเป็น กลุ่ม A1 A2 A3 A4 กับกลุ่ม B1 B2 ทั้ง 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันที่ กลุ่ม A จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล เครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี ส่วนกลุ่ม B จะได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เท่านั้น

 

ทั้งนี้ กลุ่ม A กับกลุ่ม B แตกต่างกันที่สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล A1 จะได้รับสูงสุดคือ 8 ปี และไม่จำกัดวงเงิน ขณะที่ A2 จำกัดวงเงิน ส่วน A3 A4 จำนวนปีที่จะได้รับการยกเว้นภาษีลดหลั่นกันลงมาเป็น 5 ปี 3 ปีตามลำดับ แต่ทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นไม่เกิน 8 ปี ตามที่กฎหมายส่งเสริมการลงทุนกำหนดไว้

 

(2) สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) เพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุนหรือใช้จ่ายในกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือต่ออุตสาหกรรมโดยรวมมากขึ้นก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันจากกรณีที่มีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนา

 

สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานอยู่ใน "เขตส่งเสริมการลงทุน" 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ประกอบไปด้วย กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, นครพนม, น่าน, บุรีรัมย์, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สระแก้ว, สุโขทัย, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, อุบลราชธานี และ อำนาจเจริญ

 

ส่วนนโยบายในเรื่องของ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ยุทธศาสตร์ได้กำหนดประเภทกิจการ อาทิ Cloud Service หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว แต่คราวนี้เรามาปรับเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม อาทิ เปลี่ยนจากมูลค่าการลงทุนด้านเครื่องจักรมาเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของคน วัดจากเงินเดือนเพื่อตอบสนองธุรกิจให้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้

 

ล่าสุด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำลังนำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 7 ปี ประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2558 โดย BOI ได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่องนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในเร็ว ๆ นี้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ