ECONOMICS

SCB EIC เชื่อ ส่งออกไทยได้อานิสงส์จาก BOJ ประกาศเพิ่ม QE
POSTED ON 04/11/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุถึงผลกระทบของไทยต่อกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมระลอกสอง (QQE) แบบไม่กำหนดกรอบเวลาสิ้นสุด หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงต่อเนื่องสวนทางกับเป้าหมาย 2% ของ BOJ ว่า ผลกระทบต่อตลาดการเงินของไทยจะมีไม่มากนัก แม้ว่าการเพิ่มวงเงิน QQE ครั้งนี้จะทำให้ปริมาณเงินรวมที่ BOJ เพิ่มเข้าสู่ระบบอยู่ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ใกล้เคียงกับปริมาณเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเข้าสู่ระบบเฉลี่ยต่อปีในมาตรการ QE3 แต่มูลค่าของการซื้อสินทรัพย์ที่ BOJ เพิ่มขึ้นนั้นมีเพียง 10-20 ล้านล้านเยน หรือราว 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับขนาดของมาตรการ QQE เดิม จึงไม่น่าส่งผลให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก

 

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินเยนอาจจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น หลังจากที่ BOJ ได้ประกาศเพิ่มวงเงินในการอัดฉีดปริมาณเงินเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่เหนือความคาดหมายของตลาด ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงทันทีถึง 2.8% มาอยู่ที่ 112 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

สำหรับปริมาณเงินที่อัดฉีดเพิ่มเติมนั้นถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับมาตรการ QQE เดิม จึงไม่น่าจะกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าได้มากนัก ดังนั้น หากค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงอีกจากระดับปัจจุบันจะต้องขึ้นอยู่กับว่า BOJ จะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมที่เหนือความคาดหมายของตลาดอีกหรือไม่

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าทางด้านผู้ส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยนไม่มากนัก และจะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายของ BOJ ในระยะยาว สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังญี่ปุ่นคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ซึ่งมีการนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ถึงแม้ว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นแพงขึ้น แต่การนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกลงจะช่วยชดเชยรายได้จากการส่งออกที่ลดลงได้

 

นอกจากนี้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของญี่ปุ่นเป็นไปเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว หลังจากที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวแล้ว