ECONOMICS

สศอ. แนะ อุตฯไทยต้องขยับสู่ผู้บริหารเครือข่ายการผลิตในอาเซียน
POSTED ON 17/10/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง อยู่หรือไป? อนาคตอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจัดโดย สศอ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า ทางรอดของอุตสาหกรรมไทยเมื่อเข้าสู่ AEC ว่า ต้องปรับบทบาทในสภาพแวดล้อมใหม่ โดยการมองตลาดและฐานการผลิตในระดับภูมิภาค ขยับจากการเป็นผู้ผลิตอย่างเดียวเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค และเน้นการพัฒนาจากการเลียนแบบให้เร็ว แล้วทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเองเมื่อพร้อม

 

ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการหลายรายทั้งไทยและต่างชาติประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดและขยายฐานการผลิตในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ก่อนที่ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างเป็นทางการในปีหน้า เพราะการเชื่อมโยงตลาดและฐานการผลิตในอาเซียนเป็นสิ่งจำเป็น

 

"มีเอกชนไทยกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตนในการบริหารจัดการเครือข่ายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ความท้าทายต่อไปของเอกชนกลุ่มนี้คือ การขยับไปเป็นผู้ที่สามารถยื่นข้อเสนอแก่ผู้ว่าจ้างเกี่ยวกับการเลือกใช้วัตถุดิบ การกำหนดสเป็คต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก ในขณะที่เอกชนกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นสตรีควรเน้นเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้น และพยายามถอดแบบเสื้อผ้าของแบรนด์ชื่อดังให้เร็วขึ้นเพื่อโอกาสทางธุรกิจ ส่วนเอกชนกลุ่มสิ่งทอจะต้อง เน้นวิจัยพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ให้ลงลึกไปถึงระดับเส้นใย" นายสมชาย กล่าว

 

ผู้อำนวยการ สศอ. ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า "ที่ผ่านมาการปรับปรุงกฎระเบียบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังตามไม่ทัน ภาครัฐจึงควรเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เอกชนไทยเสียโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน สิ่งที่ภาคเอกชนอยากให้เกิดขึ้น เช่น การเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกทั้งหมดเข้าด้วยกันภายใต้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว(National Single Window) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับภาคเอกชนได้มาก"

 

นอกจากนี้ ในงานสัมมนายังได้มีการประเมินอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยด้วยว่ายังจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนต่อไป เนื่องจากมีความได้เปรียบจากการมีคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ในระดับต่ำ แต่จะต้องแข่งขันกับอินโดนีเซียมากขึ้น และนักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่สูง แต่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในลุ่มประเทศ CLMV แล้วให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับฐานการผลิตใหม่เหล่านี้ เอกชนไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการขยับขึ้นเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค ไปวางระบบการผลิตและสอนงานพนักงานในประเทศเหล่านี้ โดยใช้ฐานความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเองที่สั่งสมมานาน ควบคู่ไปกับการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมให้มากขึ้น