ECONOMICS

สสว. เผย 8 เดือนแรก เอสเอ็มอีส่งออกเพิ่ม 9%
POSTED ON 15/10/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ประจำเดือนสิงหาคม และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.2557) ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมมีการชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ-เอกชน ที่หดตัวลงหลังจากเร่งขยายตัวไปมากภายหลังที่สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย

 

แต่เชื่อมั่นว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีสถานการณ์ต่างๆ ในภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้น ผลจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มีความชัดเจน การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น การผลิตภาคเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

 

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกของ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ส.ค.2557) มีมูลค่ารวม 1,282,557 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.11 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.47 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่เดือน ส.ค.2557 การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 144,934 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.2557 ที่ผ่านมา

 

ตลาดหลักที่ SMEs ไทยส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกในระดับสูง ได้แก่ จีน มีมูลค่ารวม 151,789 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มีมูลค่า 125,986 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 96,958 ล้านบาท มาเลเซีย มีมูลค่า 64,325 ล้านบาท และเวียดนาม มูลค่า 48,935 ล้านบาท โดยทุกประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.82 ถึง 23.38 โดยเฉพาะเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 23.38

 

สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ตามลำดับ โดยทุกหมวดสินค้าดังกล่าว การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 10.05-33.76

 

ส่วนการนำเข้าของ SMEs ช่วง 8 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 1,421,510 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.13 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.06 ของการนำเข้ารวม โดยเดือน ส.ค.2557 การนำเข้าของ SMEs มีมูลค่า 161,690 ล้านบาท หดตัวลงจากเดือน ก.ค.2557 ที่ผ่านมา

 

ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าช่วง 8 เดือนแรกในระดับสูง ได้แก่ จีน มูลค่า 383,744 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 214,600 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 84,031 ล้านบาท มาเลเซีย มูลค่า 66,276 ล้านบาท และออสเตรเลีย มูลค่า 35,860 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่การนำเข้าหดตัวลง มีเพียงจีนและมาเลเซียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

สำหรับสินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ

 

ขณะที่การจัดตั้งและยกเลิกกิจการช่วง 8 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ส.ค.) พบว่า กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 40,262 ราย หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 18.02 โดยเดือน ส.ค.2557 มีกิจการจัดตั้งใหม่จำนวน 5,204 ราย หดตัวลงจากเดือน ก.ค.2557 ที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 6.9 และ 17.8 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร ร้านอาหาร ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ตามลำดับ

 

ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี มีจำนวน 8,563 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 6.51 ขณะที่เดือน ส.ค.2557 มีการยกเลิกกิจการรวม 1,236 ราย หดตัวลงจากเดือน ก.ค.2557 ที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 16.3 และ 0.9 ตามลำดับ ประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ ก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย การขายสลากกินแบ่ง อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (เดือน ต.ค.-ธ.ค.2557) ทั้งในด้านการสร้างงาน และการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 3.24 แสนล้านบาท อาทิ การขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไปถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2557 การเร่งรัดทำสัญญาจ้างของหน่วยราชการตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (BOI) ฯลฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีทิศทางการขยายตัวที่ดียิ่งขึ้น