ECONOMICS

บีโอไอ อนุมัติล้างท่อเกินครึ่ง Eco Car 2 ฉลุย 5 ราย
POSTED ON 09/10/2557


เศรษฐกิจอุตสาหกรรม - บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริม 18 โครงการใหญ่ และอีก 2 รายขอแก้ไขเพื่อลงทุนเพิ่ม เงินลงทุน 8.9 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการผลิตอีโคคาร์ 2 รวม 5 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้ารวม 9 โครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ และโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้อนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนที่ค้างในช่วงก่อนหน้านี้ไปมากกว่าครึ่งแล้ว โดยมีมูลค่าเงินลงทุนจากโครงการที่อนุมัติส่งเสริมไปแล้วกว่า 4.5 แสนล้านบาท จากมูลค่าที่รอการอนุมัติประมาณ 7 แสนล้านบาท

 

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ และแก้ไขโครงการอีก 2 โครงการ รวมเงินลงทุน 89,713.4 ล้านบาท จึงทำให้ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมานั้น ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วรวมครั้งนี้ด้วย จำนวนทั้งสิ้น 603 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 458,595 ล้านบาท

 

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วย

 

1. บริษัท เต๋อหลง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน กำลังผลิตปีละประมาณ 600,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,440.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง

 

2. Mr.CHANG, HSIEN-MING ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ กำลังผลิตปีละประมาณ 80,000 ตัน และชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม ปีละประมาณ 4,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,450 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชลบุรี

 

3. บริษัท ไทย อาซาฮี คาเซอิ สแปนเด็กซ์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตเส้นด้ายสแปนเด็กซ์ กำลังผลิตปีละประมาณ 3,700 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตอุตสาหกรรมของบริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี

 

4. บริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานพาหนะ เช่น กันชนรถยนต์ เป็นต้น กำลังผลิตปีละประมาณ 1,191,670 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,089.4 ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

 

5. บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) กำลังผลิตปีละประมาณ 180,000 คัน และเครื่องยนต์ กำลังผลิตปีละประมาณ 2,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 18,180 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด จังหวัด ระยอง

 

6. บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) กำลังผลิตปีละประมาณ 158,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,109 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง

 

7. บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) และชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 123,000 คัน และชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังการผลิตปีละประมาณ 2,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,860 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

 

8. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) กำลังการผลิตปีละประมาณ 233,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

 

9. บริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการ ผลิตเอทธิลีนออกไซด์บริสุทธิ์ กำลังการผลิตปีละประมาณ 60,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,826 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง

 

10. บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 52.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,690 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

 

11. บริษัท อาร์อีเอส นครศรีธรรมราช จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย กำลังการผลิต 9.98 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 970 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

12. บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,165.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

 

13. บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต 44 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 300 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,306.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

 

14. บริษัท อุทัยธานี ไปโอ เอเนอยี่ จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล 35 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,050 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี

 

15. บริษัท ซีเอชพี 1 จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 125.8 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 16 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,983 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตอุตสาหกรรมของ บริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี

 

16. บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 42 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,350 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตอุตสาหกรรมของ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี

 

17. บริษัท เค.อาร์.วัน จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,203.2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอด่านขุนทด และอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา

 

18. บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 117.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น5,340 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ส่วนอีก 2 รายที่อนุมัติขอแก้ไขโครงการเพื่อลงทุนเพิ่ม ได้แก่

 

19. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) โดยลงทุนประมาณ 7,700 ล้านบาท และจะมีกำลังการผลิตเพิ่มจาก 180,000 คัน เป็น 220,000 คัน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ทั้งรุ่นที่ 1 และ 2 สำหรับความต้องการตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

 

20. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 โดยจะลงทุนเพิ่ม 1,900 ล้านบาท และจะมีกำลังการผลิตเพิ่มจากเดิม 100,000 คัน เป็น 160,000 คัน (ECO-CAR เดิมและ ECO-CAR รุ่นที่ 2) โดยเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการสำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ

 

ด้านผู้บริหารของฟอร์ด กล่าวว่า "เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เข้าร่วมในโครงการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) รุ่นที่ 2 โดยแผนงานที่ฟอร์ดได้นำเสนอประกอบด้วย การลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมเป็นมูลค่าประมาณ 606 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท) ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์จำนวน 180,000 คันต่อปี และการผลิตเครื่องยนต์รุ่นเฉพาะภายใต้โครงการดังกล่าว"

 

"เรามีความมุ่งมั่นในการนำทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ระดับโลกของฟอร์ดมาใช้เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเราจะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ในอนาคตและการดำเนินงานด้านกระบวนการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอีโคคาร์ในโอกาสต่อไป" ผู้บริหารของฟอร์ด กล่าว

 

ฟอร์ดมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและให้การสนับสนุนรถยนต์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันมากขึ้น และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง เพื่อช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการมอบตัวเลือกที่หลากหลายและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค

 

การลงทุนของฟอร์ดในประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในระยะยาว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้สนับสนุนนโยบายและแนวทางการพัฒนาเพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตก้าวหน้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก โครงการอีโคคาร์นับว่ามีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ฟอร์ดจึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวและช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป